องค์ประกอบแห่งความเป็นเลิศทางธุรกิจการบินของประเทศไทย
Keywords:
องค์การแห่งความเป็นเลิศ ธุรกิจการบิน สายการบิน รัฐวิสาหกิจ รางวัลคุณภาพแห่งชาติประเทศไทย รางวัลคุณภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกาAbstract
การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาองค์ประกอบแห่งความเป็นเลิศทางธุรกิจการบินของประเทศไทย 2) เพื่อตรวจสอบความกลมกลืนในองค์ประกอบแห่งความเป็นเลิศทางธุรกิจการบินของประเทศไทยกับข้อมูลเชิงประจักษ์ 3) เพื่อเปรียบเทียบความไม่แปรเปลี่ยนในองค์ประกอบแห่งความเป็นเลิศทางธุรกิจการบินของประเทศไทย 4) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและอุปสรรคในความเป็นเลิศทางธุรกิจการบินของประเทศไทย ซึ่งเป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mix method research) กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยบุคลากรของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 355 คน และบริษัท ไทยสมายล์ แอร์เวย์จำกัด จำนวน 205 คน สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณประกอบด้วยค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพซึ่งเป็นการวิเคราะห์ สังเคราะห์เอกสาร และจากการสัมภาษณ์เชิงลึกในกลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key informants) จำนวน 18 คนแบบเจาะจง ผลการวิจัยพบว่า องค์ประกอบแห่งความเป็นเลิศทางธุรกิจการบินของประเทศไทยในภาพรวมมี 9 องค์ประกอบเรียงตามลำดับดังนี้ 1) ด้านการมุ่งเน้นการปฏิบัติการ 2) ด้านการวางแผนเชิงกลยุทธ์ 3) ด้านผลลัพธ์ 4) ด้านการมุ่งเน้นลูกค้า 5) ด้านการวัด การวิเคราะห์และการจัดการความรู้ 6) ด้านการมุ่งเน้นบุคลากร 7) ด้านการนำองค์การ 8) ด้านหลักธรรมาภิบาล และ 9) ด้านรางวัลสายการบินที่ดีที่สุดในโลกจากสถาบันการจัดอันดับ Skytrax ส่วนปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ พบว่า 1) การมีต้นทุนที่สูงทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับสายการบินอื่นได้ 2) การติดขัดกับกฎ ระเบียบและข้อบังคับของระบบราชการในความเป็นรัฐวิสาหกิจ 3) การใช้ระบบอุปถัมภ์ในการคัดเลือกบุคลากรและการแต่งตั้งหรือโยกย้าย 4) การที่มีบุคลากรมากเกินความจำเป็น 5) ขาดความเป็นอิสระในการบริหารจัดการเนื่องจากการแทกแซงจากฝ่ายการเมือง 6) เครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีจำนวนรุ่นที่มากจนเกินไป 7) ตำแหน่งทางการตลาดของสายการบินไทยสมายล์ยังไม่ชัดเจน 8) โครงสร้างการบริหารจัดการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นองค์การที่มีขนาดใหญ่ สำหรับแนวทางในการพัฒนาความเป็นเลิศทางธุรกิจการบินของประเทศไทย ได้แก่ 1) ควรลดต้นทุนลงเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน 2) ควรพิจารณาปรับปรุง กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้มีความคล่องตัวและยืดหยุ่นทางธุรกิจการบิน 3) ควรยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการองค์การ 4) ควรลดจำนวนบุคลากรให้สอดคล้องกับเส้นทางการบินและจำนวนเครื่องบิน 5) ควรพิจารณาในความเป็นรัฐวิสาหกิจให้มีลักษณะของการจัดการภาครัฐแนวใหม่ 6) ควรวางแผนในการจัดซื้อเครื่องบินโดยให้มีจำนวนรุ่นน้อยที่สุด 7) สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ควรทบทวนตำแหน่งทางการตลาดใหม่ และ 8) ควรปรับโครงสร้างขององค์การให้มีขนาดเล็กลงDownloads
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
วารสารบริหารธุรกิจศรีนครินทรวิโรฒ ยินดีรับบทความวิจัยและบทความทางวิชาการด้านบริหารธุรกิจ เพื่อพิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร ซึ่งทัศนะและข้อคิดเห็นใดๆ ในวารสารฯ ถือเป็นความคิดเห็นและความรับผิดชอบโดยตรงของผู้เขียน มิใช่เป็นความคิดเห็นและความรับผิดชอบใดๆ ของคณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ประสงค์จะนำบทความหรือบทวิจารณ์ใดๆ ไปเผยแพร่ จะต้องได้รับการอนุญาตจากวารสารเป็นลายลักษณ์อักษร ลิขสิทธิ์บทความที่เผยแพร่ทั้งหมดเป็นของวารสารบริหารธุรกิจศรีนครินทรวิโรฒ