Ethics for Editor and Editorial
บทบาทหน้าที่ของบรรณาธิการและกองบรรณาธิการ
1. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการมีหน้าที่ในการพิจารณาเนื้อหาและคุณภาพของบทความในเบื้องต้น เกี่ยวกับเนื้อหาของบทความว่าสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ รูปแบบของวารสาร ความเข้มข้นของบทความ การคัดลอกผลงานทางวิชาการ การคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ และพิจารณาคุณภาพโดยรวมของบทความก่อนเข้าสู่กระบวนการประเมินบทความต่อไป
2. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการจะต้องพิจารณาบทความโดยยึดหลักของคุณธรรมและจริยธรรม โดยไม่ใช้อคติหรือความรู้สึกส่วนตนในการพิจารณาบทความเรื่องนั้น
3. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการมีหน้าที่ในการพิจารณาและเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิสาขาที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินบทความ โดยจะต้องกำหนดหรือคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความที่มีความเชี่ยวชาญตรงตามสาขาของบทความนั้นๆ โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่กำหนดนั้นจะต้องไม่เป็นผู้ที่มาจากหน่วยงานเดียวกันกับผู้เขียนเพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น
4. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการจะต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความ และจะต้องไม่เรียกรับผลประโยชน์ใดๆ เพื่อให้ผู้เขียนได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่บทความ เช่น การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อความรวดเร็วในการประเมินบทความ การลัดขั้นตอนเพื่อช่วยผู้เขียนบางท่านสามารถตีพิมพ์บทความได้เร็วขึ้น การใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเพื่อพิจารณาบทความได้รวดเร็วขึ้น
5. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยหรือนำส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความของผู้เขียนบทความไปเผยแพร่หรือใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว
6. บรรณาธิการจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลผู้เขียนบทความให้ผู้ทรงคุณวุฒิและข้อมูลของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความให้ผู้เขียนหรือผู้ไม่เกี่ยวข้อง เนื่องจากวารสารมีการประเมินคุณภาพแบบผู้พิจารณาไม่ทราบชื่อผู้แต่ง และผู้แต่งไม่ทราบชื่อผู้พิจารณา (Double blinded peer review) เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น
7. บรรณาธิการและกองบรรณาธิการวารสารจะต้องกำกับการดำเนินการต่างๆ ของวารสารและควบคุมดูแลคุณภาพของวารสารให้เป็นไปตามเกณฑ์คุณภาพของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย