พฤติกรรมและแนวโน้มการซื้อซ้ำเครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลีของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร

Authors

  • ธีรนาฎ โกมณเฑียร หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Keywords:

เครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลี แนวโน้มการซื้อซ้ำ คุณค่าที่ลูกค้ารับรู้

Abstract

     การวิจัยนี้มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาพฤติกรรมและแนวโน้มการซื้อซ้ำเครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลี ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้บริโภคเพศหญิงที่เคยซื้อและใช้เครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลีในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 400 ตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ค่าที การวิเคราะห์ ค่าความแปรปรวนทางเดียว การวิเคราะห์เชิงถดถอยแบบพหุคูณ และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน       ผลการวิจัยพบว่า     ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ประกอบอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนระหว่าง 10,001-20,000 บาท และมีสถานภาพสมรสโสด หย่าร้าง หม้ายหรือแยกกันอยู่     ทัศนคติของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีต่อด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย ด้านการส่งเสริมการตลาด ด้านพนักงาน ด้านกระบวนการให้บริการ และด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ โดยรวมอยู่ในระดับดี ความคิดเห็นเกี่ยวกับค่านิยมในการซื้อเครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลี ได้แก่ ค่านิยมความร่ำรวยและนิยมใช้ของจากต่างประเทศ ค่านิยมสุขภาพดี ค่านิยมบริโภคนิยม และค่านิยมเลียนแบบต่างประเทศ โดยรวมอยู่ในระดับมาก และความคิดเห็นเกี่ยวกับคุณค่าที่ลูกค้ารับรู้ในการซื้อเครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลี โดยรวมอยู่ในระดับมาก      ในด้านพฤติกรรมการซื้อเครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลี พบว่า มีความถี่ในการซื้อเครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลีเฉลี่ยประมาณ 2 ครั้งต่อ 3 เดือน มีค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องสำอางเฉลี่ยต่อครั้ง 920 บาท เครื่องสำอางที่นิยมซื้อคือ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย และผลิตภัณฑ์แต่งหน้า ยี่ห้อเครื่องสำอางที่นิยมใช้มากที่สุด ได้แก่ ETUDE HOUSE, SKIN FOOD และ THE FACE SHOP โดยซื้อเครื่องสำอางจากเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้า ซื้อเครื่องสำอางเมื่อผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่หมด และบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการซื้อเครื่องสำอาง ได้แก่ ตนเอง        ในด้านแนวโน้มการซื้อซ้ำเครื่องสำอาง พบว่า มีแนวโน้มจะซื้อเครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลีอีกในอนาคต จะซื้อเครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลีอีกหากสินค้าเดิมหมด และซื้อเครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลีประเภทอื่นที่ยังไม่เคยใช้ในอนาคต มีแนวโน้มจะใช้เครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลีต่อไป และใช้เครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลีอีกหากมีการออกสินค้าใหม่       ผลการทดสอบสมมติฐานที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.01 พบว่า       ผู้บริโภคที่มีอายุ ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้เฉลี่ยต่อเดือนแตกต่างกันมีพฤติกรรมการซื้อเครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลีด้านค่าใช้จ่ายในการซื้อโดยเฉลี่ยแตกต่างกัน       ผู้บริโภคที่มีอาชีพแตกต่างกัน มีพฤติกรรมการซื้อเครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลีด้านความถี่ในการซื้อโดยเฉลี่ยแตกต่างกัน       ทัศนคติด้านส่วนประสมทางการตลาดด้านผลิตภัณฑ์ สามารถทำนายพฤติกรรมการซื้อเครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลีด้านความถี่ในการซื้อโดยเฉลี่ย ได้ร้อยละ 2.5        ค่านิยมสุขภาพดี มีความสัมพันธ์ในระดับต่ำและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับพฤติกรรมการซื้อเครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลี ในด้านความถี่ในการซื้อโดยเฉลี่ย        ค่านิยมสุขภาพดีและค่านิยมเลียนแบบต่างประเทศ มีความสัมพันธ์ในระดับต่ำและในระดับปานกลาง ตามลำดับ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กับพฤติกรรมการซื้อเครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลี ในด้านค่าใช้จ่ายในการซื้อต่อครั้ง       พฤติกรรมการซื้อเครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลี ในด้านความถี่ในการซื้อโดยเฉลี่ย มีความสัมพันธ์ในระดับต่ำและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กับแนวโน้มการซื้อซ้ำเครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลี       พฤติกรรมการซื้อเครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลี ในด้านค่าใช้จ่ายในการซื้อต่อครั้ง มีความสัมพันธ์ในระดับต่ำและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กับแนวโน้มการซื้อซ้ำเครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลี

Downloads

Download data is not yet available.

Downloads

Published

18-11-2013

How to Cite

โกมณเฑียร ธ. (2013). พฤติกรรมและแนวโน้มการซื้อซ้ำเครื่องสำอางนำเข้าจากเกาหลีของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพมหานคร. วารสารบริหารธุรกิจศรีนครินทรวิโรฒ: Srinakharinwirot Business Journal, 4(1), 111–132. Retrieved from https://ejournals.swu.ac.th/index.php/MBASBJ/article/view/3786