การศึกษากระบวนการและปัญหาในการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อก่อสร้างถนน สำหรับกังหันผลิตไฟฟ้าพลังลม
Keywords:
การเวนคืนที่ดิน ค่าเวนคืนที่ดิน เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ส.ป.ก. โครงการก่อสร้างถนนAbstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงกระบวนการในการเจรจาขอเวนคืนที่ดินและปัญหาที่เกิดขึ้นของโครงการก่อสร้างถนนสำหรับกังหันผลิตไฟฟ้าพลังลมในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในตำบลวะตะแบกและตำบลห้วยยายจิ๋ว อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ รวมทั้งศึกษากระบวนการติดต่อกับหน่วยงานราชการเพื่อขออนุญาตก่อสร้างถนนสำหรับกังหันผลิตไฟฟ้าพลังลม และศึกษาการรังวัดสำรวจที่ดินที่ใช้ก่อสร้างถนนและปัญหาที่เกิดขึ้น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาโครงการของบริษัทเจ้าของโครงการก่อสร้างถนนสำหรับกังหันผลิตไฟฟ้าพลังลม จำนวน 1 คน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่โครงการตั้งอยู่ จำนวน 2 คน นิติกรสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดชัยภูมิ จำนวน 2 คน และเจ้าของที่ดินที่ใช้เทคนิคการเลือกตัวอย่างโดยวิธีการชักชวนต่อๆ จำนวน 5 คน โดยใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นเครื่องมือในการรวบรวมข้อมูล รวมถึงการศึกษาระเบียบราชการและแบบฟอร์มราชการจากเว็บไซต์ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและจากนิติกรสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัด ผลการศึกษาพบว่า 1. บุคคลที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเจ้าของที่ดินในการยอมรับการขอเวนคืนที่ดินได้แก่ นักการเมืองส่วนท้องถิ่น 2. เหตุผลหลักที่ทำให้ยอมรับการเวนคืนที่ดินคือ เจ้าของที่ดินเห็นถึงประโยชน์ของการสร้างถนนและเห็นว่าผลตอบแทนจากการสละสิทธิที่ดินและเงินชดเชยพืชผลคุ้มผลประโยชน์ที่จะเสียไปในอนาคต 3. กระบวนการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการในการขอใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อก่อสร้างถนนในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นไปตามระเบียบของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ที่จะก่อสร้างถนนเป็นผู้ดำเนินการในการยื่นขออนุญาต 4. กระบวนการในการทำรังวัดและแผนที่ดำเนินการโดยบริษัทเจ้าของโครงการก่อสร้างถนนในการติดต่อและประสานงานกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ปัญหาในการดำเนินโครงการที่พบ คือ 1. แผนที่รูปแปลงที่ดินที่จัดทำโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชัยภูมิ มีความคลาดเคลื่อนจากรูปร่างของที่ดินจริงค่อนข้างมาก 2. ไม่สามารถเจรจาค่าชดเชยการสละสิทธิที่ดินตามอัตรามาตรฐานกับเจ้าของที่บางรายได้ 3. การที่เจ้าของที่ดินไม่สามารถนำโฉนดมามอบให้นิติกรในวันที่ทำการสละสิทธิที่ดินและการติดตามเจ้าของที่ดินมาลงนามสละสิทธิที่ดินกับนิติกรทำได้ยาก 4. ที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีกำหนดการไม่แน่นอนและบางครั้งมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดการอย่างกะทันหัน 5. สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการอนุมัติโครงการสร้างถนน เพราะมีความกังวลว่าจะต้องใช้งบประมาณขององค์การบริหารส่วนตำบล 6. เนื้อที่ที่ดินทั้งหมดที่ได้จากการรังวัดใหม่ของช่างรังวัดของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อนตัดทอนเนื้อที่ที่สละสิทธิแตกต่างจากเนื้อที่ที่ดินที่ระบุในเอกสารแสดงสิทธิครอบครอง 7. การรังวัดสำรวจที่ดินใหม่โดยเจ้าของที่ดินเป็นผู้นำรังวัด ใช้อุปกรณ์รับสัญญาณ GPS แบบ RTK ยี่ห้อTopcon รุ่น GR-5 ซึ่งได้รูปร่างและเนื้อที่ที่ดินแตกต่างจากเอกสารแสดงสิทธิครอบครอง 8. ชื่อเจ้าของที่ดินตามฐานข้อมูลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ณ ตำแหน่งที่ขออนุญาตใช้ก่อสร้างจริงไม่ตรงกับเจ้าของที่ดินที่ครอบครองอยู่ในปัจจุบันDownloads
Downloads
Published
How to Cite
Issue
Section
License
วารสารบริหารธุรกิจศรีนครินทรวิโรฒ ยินดีรับบทความวิจัยและบทความทางวิชาการด้านบริหารธุรกิจ เพื่อพิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร ซึ่งทัศนะและข้อคิดเห็นใดๆ ในวารสารฯ ถือเป็นความคิดเห็นและความรับผิดชอบโดยตรงของผู้เขียน มิใช่เป็นความคิดเห็นและความรับผิดชอบใดๆ ของคณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ประสงค์จะนำบทความหรือบทวิจารณ์ใดๆ ไปเผยแพร่ จะต้องได้รับการอนุญาตจากวารสารเป็นลายลักษณ์อักษร ลิขสิทธิ์บทความที่เผยแพร่ทั้งหมดเป็นของวารสารบริหารธุรกิจศรีนครินทรวิโรฒ