อนาคตภาพของคุณลักษณะครูไทยในทศวรรษหน้า (พ.ศ.2560-2569)
Main Article Content
Abstract
บทคัดย่อ การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาอนาคตภาพของคุณลักษณะครูไทยในทศวรรษหน้าและศึกษาแนวทางการพัฒนาครูไทยตามคุณลักษณะครูไทยในทศวรรษหน้าโดยงานวิจัยระยะแรกเป็นการศึกษาอนาคตภาพของคุณลักษณะครูไทยในทศวรรษหน้าด้วยเทคนิควิธี EFR (Ethnographic Futures Research) จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านการศึกษาทั้งจากสถาบันอุดมศึกษาที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการผลิตครูผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ กลุ่มผู้ใช้ครูและกลุ่มครู ได้มาโดยวิธีการเลือกตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) รวมจำนวน 17 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์ มีค่าความความสอดคล้อง (IOC) 1.00 ทุกประเด็นส่วนงานวิจัยระยะที่สองเป็นการ ศึกษาแนวทางการพัฒนาคุณลักษณะครูไทยในทศวรรษหน้า โดยศึกษาจากทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาครู การสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและพัฒนาครู จำนวน 8 คน และการสนทนากลุ่มกับผู้แทนจากสถาบันการผลิตครูและผู้ใช้ครู จำนวน 7 คน เพื่อสร้างข้อเสนอแนวทางการพัฒนาคุณลักษณะครูไทยในทศวรรษหน้า เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็น แบบสัมภาษณ์ และประเด็นการสนทนากลุ่ม การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ผลการวิจัย พบว่า 1. ภาพอนาคตคุณลักษณะครูไทยในทศวรรษหน้า ผลการศึกษาภาพอนาคตของคุณลักษณะครูไทยที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในอีก 10 ปี ข้างหน้า (พ.ศ.2560-2569) พบว่า คุณลักษณะครูไทยที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ในอีก 10 ปีข้างหน้า ครูต้องมีหลักของการดำเนินชีวิตบนฐานหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา โดยยึดถือแนวปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ“พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน” บนเงื่อนไข “ความรู้” และ “คุณธรรม”โดยคุณลักษณะครูที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดใน 10 ปีข้างหน้า ในด้านการ รู้คิด ครูจะต้องมีความรู้ รอบรู้ รู้ลึก มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาเป็นพื้นฐาน บวกกับการมีปัญญา มีการรู้ เท่าทัน มีความสามารถในการคิดขั้นสูง และมีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาและการตัดสินใจ ในส่วนด้านจิตใจ นอกจากจะมีคุณธรรมจริยธรรม จรรยาบรรณความเป็นครู จิตวิญญาณความเป็นครู เป็นพื้นฐานแล้ว ครูจะต้องมีจิตสาธารณะ จิตอาสามีความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรม และมีความรับผิดชอบต่อผู้เรียน ชุมชน และสังคม ในส่วนของทักษะ ครูจะต้องมีทักษะการสอน ทักษะการสื่อสาร ทักษะการใช้เทคโนโลยี ทักษะการเป็นผู้ช่วยเหลือ และทักษะการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้และสังคม2. แนวทางในการพัฒนาครูไทยในทศวรรษหน้า 2.1 กระทรวงศึกษาธิการในฐานะหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบงานด้านการศึกษา การผลิตและพัฒนาครู ควรมีแนวทางการพัฒนาคุณลักษณะครู ในประเด็นต่างๆ ได้แก่กำหนดนโยบายการผลิตและพัฒนาครูที่มีจุดเน้นถึงคุณลักษณะครูในทศวรรษหน้า บนพื้นฐานของการพัฒนาส่งเสริมการดำเนินชีวิตครูตามหลักไตรสิกขาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกำหนดตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมินมาตรฐานคุณลักษณะครูไทย เพื่อความเป็นมาตรฐานการผลิตและพัฒนาครูที่เป็นมาตรฐานกลางของประเทศจัดตั้งองค์กร หน่วยงานการพัฒนาวิชาชีพครู เพื่อเป็นหน่วยงานกลางของประเทศในการพัฒนาวิชาชีพครูและจัดทำคู่มือเส้นทางการพัฒนาตนบนเส้นทางวิชาชีพครูให้กับครู 2.2 สถาบันการผลิตครู ทั้งมหาวิทยาลัยและกลุ่มสถาบันราชภัฎที่ผลิตครูควรมีแนวทางการพัฒนาคุณลักษณะครู ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ พัฒนาหลักสูตรการผลิตครู โดยในรายวิชาชีพครูควรมีการเสริมสร้างคุณลักษณะครูที่พึงประสงค์ ในทุกชั้นปีการศึกษา โดยออกแบบและจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณลักษณะความเป็นครูตามภาพอนาคตคุณลักษณะครูไทยในทศวรรษหน้าที่พบในงานวิจัยสร้างรูปแบบเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาครู พัฒนานักศึกษาครู ระหว่างสถาบันการผลิตครูกับโรงเรียนในเขตพื้นที่รับผิดชอบมีกิจกรรมในการปลูกฝังนักศึกษาครูให้เห็นและตระหนักถึงความสำคัญของการนำหลักไตรสิกขาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต 2.3 ศึกษาธิการภาคควรมีแนวทางการพัฒนาคุณลักษณะครู ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ เพิ่มบทบาทการเป็นผู้เอื้ออำนวยความสะดวกในการพัฒนาครู ตามมิติของคุณลักษณะครูในทศวรรษ โดยมีศึกษาธิการจังหวัดเป็นส่วนงานที่รับมอบต่อ มีหน้าที่เป็นผู้แนะ (Coach) ให้ความรู้ในการพัฒนาครู แก่ผู้บริหารโรงเรียนอิงตามความต้องการของครูและบริบทของโรงเรียนในเขตพื้นที่ สร้างรูปแบบดำเนินการนิเทศ/ติดตามผลการพัฒนาส่งเสริมคุณลักษณะครูที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ของผู้เรียน จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ของครูในโรงเรียนเขตพื้นที่ที่ดูแล โดยศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัดควรมีกิจกรรมส่งเสริมให้ครูเห็นความสำคัญและเกิดความตระหนักถึงการนำหลักไตรสิกขาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต 2.4 ผู้บริหารโรงเรียนควรมีแนวทางการพัฒนาคุณลักษณะครู ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ การสร้างความเข้าใจและความตระหนักถึงความสำคัญของคุณลักษณะครูที่จำเป็นต่อการพัฒนาให้เกิดกับครูในโรงเรียน โดยสนับสนุน ส่งเสริมให้ครูในการพัฒนาตนให้ตรงตามคุณลักษณะครูไทยในทศวรรษหน้าที่พบในงานวิจัย จัดทำแผนการพัฒนาครู ที่ครบทั้ง 3 มิติของคุณลักษณะครูในทศวรรษหน้า โดยมีการกำหนดกิจกรรมที่เน้นการพัฒนาครูที่เป็นรูปธรรม มีการนิเทศ/ติดตาม ประเมินผลการพัฒนาของกลุ่มครูอย่างต่อเนื่องและจริงจัง คำสำคัญ : อนาคตภาพ คุณลักษณะครูไทย
Article Details
How to Cite
ลังกา ว. (2017). อนาคตภาพของคุณลักษณะครูไทยในทศวรรษหน้า (พ.ศ.2560-2569). วารสารวิจัยทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 11(1). Retrieved from https://ejournals.swu.ac.th/index.php/jre/article/view/8589
Section
บทความวิจัย (Research Articles)