ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคเครื่องสำอางของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง

Main Article Content

ศิริพร พุ่มพึ่งพุทธ
ผศ. กัลยา นามสงวน

Abstract

การวิจัยเรื่องปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคเครื่องสำอางของนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องสำอาง 2) ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคเครื่องสำอาง และ 3) ศึกษาปัญหาจากการใช้เครื่องสำอางกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัยคือ นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่างจำนวน 295 คน ประจำปีการศึกษา 2548 โดยเครื่องมือที่ใช้ในการ
วิจัยเป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ ที่คณะผู้วิจัยสร้างขึ้น จำนวน 20 ข้อ และแบบสอบถามปลายเปิด ซึ่งสถิติที่ใช้ในการวิจัยคือ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (⎯X) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ไคสแควร์ (Chi-Square) t-test และ F-test โดยมีค่านัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการวิจัยพบว่า
1. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อเครื่องสำอางของนักศึกษา คือ 1) ปัจจัยด้านราคามีผลต่อการตัดสินใจของกลุ่มตัวอย่างอยู่ในระดับมาก 2) ปัจจัยด้านการจัดจำหน่ายสินค้ามีผลต่อการตัดสินใจของกลุ่มตัวอย่างในระดับมาก และ 3) ปัจจัยด้านการส่งเสริมการตลาดมีผลต่อการตัดสินใจของกลุ่ม
ตัวอย่างอยู่ในระดับปานกลาง โดยนักศึกษาเพศชายและเพศหญิงมีความคิดเห็นต่อปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์
มีผลต่อการตัดสินใจซื้อโดยรวมแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 ส่วนความคิดเห็นด้านราคา
การจัดจำหน่ายสินค้า และการส่งเสริมการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ โดยรวมไม่แตกต่างกัน และ
ความคิดเห็นต่อปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของนักศึกษา จำแนกตามชั้นปี โดยรวมไม่แตกต่างกัน
นอกจากนี้ความคิดเห็นต่อปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของนักศึกษา จำแนกตามค่าใช้จ่ายที่ได้รับจากผู้ปกครองโดยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า มีความคิดเห็นแตกต่างกันคือ ด้านผลิตภัณฑ์ และด้านการส่งเสริมการตลาด
2. พฤติกรรมการบริโภคเครื่องสำอางของนักศึกษา คือ พฤติกรรมการซื้อจากร้านขายของชำใกล้บ้าน ซูปเปอร์มาเก็ตและเคาเตอร์ตามห้างสรรพสินค้า และจากที่อื่นๆ มีความสัมพันธ์กับเพศ ส่วนพฤติกรรมการซื้อจากผู้ค้าส่ง ร้านสะดวกซื้อต่างๆ ระบบขายตรง และร้านขายเครื่องสำอางทั่วๆ ไป ไม่มีความสัมพันธ์กับเพศ ระดับการศึกษาและค่าใช้จ่ายที่ได้รับจากผู้ปกครองต่อเดือน
3. สาเหตุที่จำเป็นที่ต้องใช้เครื่องสำอางของนักศึกษา คือ เพื่อเสริมบุคลิกภาพ เพิ่มความมั่นใจในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมและเพื่อต้องการบำรุงผิวพรรณเพื่อสุขภาพผิวมีความสัมพันธ์กับเพศ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเครื่องสำอางสำหรับการประทินโฉมเพื่อให้เกิดความสวยงามเป็นที่นิยมในกลุ่มตัวอย่างเพศหญิงเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างเพศชายโดยธรรมชาติจะไม่ให้ความสำคัญในสิ่งเหล่านี้ส่วนสาเหตุที่จำเป็นที่ต้องใช้เครื่องสำอางคือ เพื่อพบปะผู้คน และสาเหตุอื่นๆ ไม่มีความสัมพันธ์กับเพศ ส่วนความจำเป็นที่ต้องพบปะผู้คน เพื่อเสริมบุคลิกภาพ เพิ่มความมั่นใจในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เพื่อต้องการบำรุงผิวพรรณเพื่อสุขภาพผิวที่ดีและสาเหตุอื่นๆ ไม่มีความสัมพันธ์กับระดับการศึกษา
4. ปัญหาจากการใช้เครื่องสำอาง คือ การเปลี่ยนชนิดของเครื่องสำอางบ่อย การใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น และก่อนใช้ไม่ได้ทดสอบเครื่องสำอางก่อนว่าแพ้หรือไม่ เป็นสาเหตุที่ทำให้แพ้เครื่องสำอางซึ่งมีความสัมพันธ์กับเพศ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าเครื่องสำอางที่ใช้แล้วเกิดการแพ้นั้นเป็นเครื่องสำอางเฉพาะที่ ซึ่งเครื่องสำอางประเภทนี้นิยมใช้ในกลุ่มเพศหญิงเป็นส่วนใหญ่ ส่วนสารเคมีซึ่งเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง การใช้เครื่องสำอางที่หมดอายุ การเก็บรักษาเครื่องสำอางไม่ถูกวิธี การทำความสะอาดไม่ดี ไม่ระมัดระวังเรื่องความสะอาดการใช้เครื่องสำอางราคาถูกเกินไป ใช้เครื่องสำอางไม่ได้คุณภาพและมาตรฐานเครื่องสำอางเนื่องจากไม่ผ่านการรับรองของ อย. และปัจจัยอื่นๆ เป็นสาเหตุที่ทำให้แพ้เครื่องสำอางไม่มีความสัมพันธ์กับเพศ นั่นคือการแพ้เครื่องสำอางเกิดขึ้นได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

How to Cite
พุ่มพึ่งพุทธ ศ., & นามสงวน ผ. ก. (2009). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการบริโภคเครื่องสำอางของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตเพาะช่าง. วารสารวิชาการศึกษาศาสตร์ ศรีนครินทรวิโรฒ, 7(1). Retrieved from https://ejournals.swu.ac.th/index.php/jedu/article/view/534
Section
บทความวิจัย (Research Articles)