บรรณาธิการ

Main Article Content

- -

Abstract

สถานการณ์บ้านเมืองในประเทศไทยในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศเฟื่องฟู ทำให้เกิดข้อมูลข่าวสารมหาศาลที่แพร่หลายได้อย่างรวดเร็วนับเป็นวินาที โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตของประเทศไทยในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ในปี 2551 มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ประมาณ10.9 ล้าน และในปี 2555 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 16.5 ล้านคน หรือร้อยละ 60 ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงผู้ที่ใช้โทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสารแบบพกพาที่มีจำนวนถึง 44 ล้านคน1 ข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่โดยทั่วไป ได้แก่ ข้อมูล ข่าวสารความรู้ ความคิดเห็น ข้อเท็จจริง ประสบการณ ์ และจินตนาการของมนุษย์ที่บันทึกลงในสื่อรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยมีการถ่ายทอดหรือเผยแพร่อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการนั้น เราเรียกว่า “ข้อมูล (Data)”และหากมีการประมวลผลเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราเรียกว่า “สารสนเทศ (Information)”เมื่อบุคคลได้รับสารสนเทศย่อมก่อให้เกิด “ความรู้ (Knowledge) ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานพ.ศ. 2542 ให้คำจำกัดความว่า “เป็นสิ่งที่สั่งสมมาจากการศึกษาเล่าเรียน การค้นคว้า หรือประสบการณ์รวมทั้งความสามารถเชิงปฏิบัติและทักษะความเข้าใจ หรือสารสนเทศที่ได้รับมาจากประสบการณ์ สิ่งที่ได้รับมาจากการได้ยิน ได้ฟัง การคิดหรือการปฏิบัติองค์วิชาในแต่ละวิชา” ความรู้จึงเป็นสิ่งที่ผ่านการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์จนเกิดความเข้าใจ สามารถนำไปสู่การปฏิบัติจนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญหรือทักษะเฉพาะตัวบุคคล ตลอดจนพัฒนาให้เป็นประโยชน์จนเป็นที่ยอมรับของของสังคม ความรู้อาจแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบคือ ความรู้ภายนอก (Explicit) คือ สิ่งที่ผู้รู้แสดงออกมา โดยการพูด บรรยาย เขียน และสาธิต และความรู้ภายใน (Implicit / Tacit) เป็นทักษะหรือความเชี่ยวชาญที่อยู่ภายในตัวผู้รู้ แต่ไม่ได้แสดงออกมาให้ปรากฏ ทั้งนี้การดำเนินชีวิตประจำวันของบุคคลและการอยู่ร่วมในสังคมจำเป็นต้องอาศัยทั้งสารสนเทศและความรู้ แต่สิ่งสำคัญที่บุคคลพึงมีหรือพัฒนาต่อจากความรู้ คือ ปัญญา (Wisdom) ซึ่งหมายถึง ความเฉลียวฉลาดและความรอบรู้ รวมถึงการมีสติในการพิจารณาเพื่อตัดสินใจและประยุกต์ความรู้ของตนได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงจริยธรรมและผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือสังคมจากปัญหาของประเทศไทยในปัจจุบันที่มีความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง รวมถึงการมีมวลชนจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองและสังคม นับเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับสังคมไทยมาก่อน ดังนั้น ข้อมูล สารสนเทศ ความรู้ และปัญญา นับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่บุคคลพึงแสวงหาได้อย่างถูกต้องและพัฒนาได้อย่างเหมาะสม นักวิชาชีพสารสนเทศจึงควรมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอและชี้นำการแสวงหาสารสนเทศที่มีคุณภาพแก่สังคม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมแห่งความรู้และปัญญาอย่างแท้จริงวารสารบรรณศาสตร์ฉบับนี้ ประกอบด้วยบทความต่าง ๆ ที่มีความหลากหลายขององค์ความรู้ แต่ประสานความเป็นหนึ่งของศาสตร์ด้านบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ได้อย่างลงตัว เฉกเช่นสังคมไทยซึ่งมีความแตกต่างทางความคิด แต่ก็มีจุดร่วมที่ลงตัว คือ ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อันจะนำพาให้ประเทศไทยของเราสู่ความสงบและสันติสุขที่ยั่งยืนตลอดไป

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

How to Cite
-, .-. (2014). บรรณาธิการ. บรรณศาสตร์ มศว, 6(2). Retrieved from https://ejournals.swu.ac.th/index.php/jlis/article/view/12226
Section
Editorial