ทัศนคติและความพึงพอใจต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
Abstract
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาทัศนคติและความพึงพอใจของบุคลากรทางการแพทย์ต่อการทำงานภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและการรับทราบและความเห็นต่อการจัดสรรงบประมาณในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้ง 3 กองทุน วิธีการศึกษา: สำรวจความคิดเห็นในบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของรัฐในเขตอำเภอ จ.เชียงใหม่ 5 โรงพยาบาลโดยสุ่มตัวอย่างตามโควตาตามจำนวนบุคลากรแต่ละวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ ผลการศึกษา: จากแบบสอบถามที่ส่งให้ตัวอย่างทั้งหมด 208 คน ได้แบบสอบถามที่นำมาวิเคราะห์ผลได้จำนวน 176 คน (คิดเป็นร้อยละ 84.6) พบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่รับทราบการยกเลิกการจ่ายร่วม 30 บาท โดยส่วนใหญ่ไม่ทราบการจัดสรรกองทุนเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ผู้บริการ แต่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกองทุนนี้ และส่วนใหญ่ไม่ทราบการจัดสรรกองทุนเงินช่วยเหลือชดเชยยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียม 30 บาท พบว่าตัวอย่างที่ระบุว่าพอใจและพอใจมากต่อโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในภาพรวมจำนวน 87 คน (ร้อยละ 49.4) โดยระดับความพึงพอใจต่อโครงการฯ ในด้านผลต่อสิทธิที่ผู้ป่วยได้รับในการรักษาสูงถึง 113 คน (ร้อยละ 62.2) ตัวอย่างเห็นว่าบริการด้านที่อยู่ในระดับดี ได้แก่ ด้านการให้ข้อมูลกับผู้ป่วยและญาติ การตรวจร่างกาย การสั่งตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเมื่อจำเป็น การพิจารณารับไว้เป็นผู้ป่วยใน หลักเกณฑ์การใช้ยา การต้อนรับ/ปฏิสัมพันธ์ ซึ่งอยู่ระดับดีถึงร้อยละ 63 - 69.9 ในด้านการดำเนินงานพบว่ามีปัญหาด้านข้อจำกัดของงบประมาณ การขาดแคลนอัตรากำลัง ขั้นตอนในการดำเนินงาน บุคลากรไม่เพียงพอ การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจในการรับสิทธิรักษาส่วนด้านปัจจัยที่สำคัญมากและมากที่สุดต่อการจูงใจในการทำงานเรียงจากมากไปน้อยตามลำดับคือ ความมั่นคง/ความก้าวหน้า (ร้อยละ64.6) ตามด้วยความสุขในการทำงาน ความคล่องตัว/ระเบียบปฏิบัติ โอกาสพัฒนาศักยภาพตนเอง ค่าตอบแทนและสวัสดิการ สังคมและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน งบประมาณของโครงการ (ร้อยละ 64.2, 64.2, 63.1, 60.2, 57.9, และ 56.3 ตามลำดับ) สรุป: เพื่อให้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าบรรลุเป้าหมาย ภาครัฐควรพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่ม ส่งเสริมสิทธิของประชาชนที่จะได้รับบริการอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเพิ่มแรงจูงใจให้บุคลากรเพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจในการทำงานเพื่อให้การบริการมีคุณภาพคำสำคัญ: โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, ทัศนคติ, ความพึงพอใจ, บุคลากรทางการแพทย์Thai Pharm Health Sci J 2009;4(2):252-261§Downloads
Download data is not yet available.
Downloads
Published
2009-04-18
Issue
Section
Original Research Article - นิพนธ์ต้นฉบับ
License
ลิขสิทธิ์ (Copyright)
ต้นฉบับที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนี้ถือเป็นสิทธิ์ของไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ การนำข้อความใด ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของต้นฉบับไปตีพิมพ์ใหม่จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของต้นฉบับและวารสารก่อน
ความรับผิดชอบ (Responsibility)
ผลการวิจัยและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์ ทั้งนี้ไม่รวมความผิดพลาดอันเกิดจากเทคนิคการพิมพ์