About the Journal
จริยธรรมและข้อปฏิบัติเบื้องต้น ในการตีพิมพ์ในวารสารฯ
จริยธรรมของบรรณาธิการ (Editor)
- บรรณาธิการดำเนินการกระบวนการพิจารณาคุณภาพต้นฉบับบทความโดยจัดให้มีคำแนะนำเหมาะสมและสอดคล้องกับหลักการทางวิชาการที่เป็นปัจจุบันให้แก่ผู้นิพนธ์
- บรรณาธิการดำเนินการพิจารณาและตีพิมพ์บทความโดยยึดหลักจริยธรรมสากล โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนในทุกขั้นตอนและบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บรรณาธิการ กองบรรณาธิการ เจ้าหน้าที่ของวารสาร ผู้นิพนธ์ ผู้ประเมินบทความ
- การดำเนินการเพื่อคงไว้ซึ่งคุณภาพของบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร โดยบรรณาธิการ
ก) คัดเลือกต้นฉบับบทความที่สอดคล้องกับขอบเขตของวารสาร และมีความสำคัญ คุณภาพ ความชัดเจนและความใหม่ทางวิชาการ
ข) เลือกผู้ประเมินที่มีความเชี่ยวชาญทางวิชาการที่สอดคล้องกับเนื้อหาในต้นฉบับบทความ
ค) รักษาระบบการประเมินที่ปกปิดเป็นความลับในทุกขั้นตอนการพิจารณา ระหว่างผู้นิพนธ์กับผู้ประเมิน (วารสารใช้ระบบ double-blind peer review) และรักษาความลับของข้อมูลส่วนตัวของผู้ประเมิน
ง) แก้ไขปัญหาและสื่อสารกับผู้นิพนธ์และผู้ประเมินหากเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน หรือข้อสงสัยต่าง ๆ
จ) แก้ไขเนื้อหาที่ผิดพลาดหรือเนื้อความที่อาจทำให้เข้าใจผิดในบทความที่ตีพิมพ์ไปแล้วโดยรวดเร็วและโปร่งใส
ฉ) พิจารณาตรวจสอบและเพิกถอนบทความที่ตีพิมพ์ไปแล้วหากพบว่ามีการบิดเบือนข้อเท็จจริงหรือมีการลอกเลียนวรรณกรรม (plagiarism) หรือมีการประพฤติทุจริตโดยรวดเร็วและโปร่งใส และประกาศเพิกถอนให้สาธารณะและฐานข้อมูลอื่น ๆ ทราบ
- ในการตรวจสอบการคัดลอกวรรณกรรม (Plagiarism) บรรณาธิการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอต่อทุกบทความ ทั้งด้วยตนเองและจากข้อสังเกตของผู้ประเมิน
- สำหรับบทความที่ถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ไปแล้ว บรรณาธิการคงการตัดสินโดยไม่เปลี่ยนไปรับตีพิมพ์ อีกทั้งไม่กลับคำตัดสินปฏิเสธการตีพิมพ์ของบรรณาธิการคนก่อน เว้นเสียแต่มีการพิสูจน์ปัญหาและหรือข้อขัดข้องแล้วอย่างโปร่งใสโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
- สำหรับกรณีข้อขัดแย้งหรือปัญหาที่ผู้นิพนธ์เห็นต่างจากการตัดสินหรือชี้แนะ บรรณาธิการจัดให้มีช่องทางอุทธรณ์ให้แก่ผู้นิพนธ์โดยสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ในการปฏิสัมพันธ์ และการให้คำอธิบาย รวมถึงการให้ข้อมูลชี้แจงกระบวนการประเมินตามระบบ peer review
- ผู้นิพนธ์และผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถร้องเรียน โดยบรรณาธิการจัดให้มีช่องทางการร้องเรียน และตอบกลับต่อคำร้องเรียนโดยเร็วและโปร่งใส
จริยธรรมของผู้ประเมินบทความ (Reviewer)
1) หากผู้ประเมินบทความพิจารณาแล้วว่าไม่สามารถพิจารณาบทความให้เสร็จในเวลาที่กำหนด ขอความกรุณาแจ้งแก่บรรณาธิการทันที (charoen@g.swu.ac.th)
2) เนื่องจากถือว่าบทความเป็นความลับ ทั้งข้อมูล แนวคิด และเนื้อความทั้งหมด ดังนั้น ให้ผู้ประเมินบทความถือเป็นความลับ ไม่นำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ไม่นำไปอภิปรายหรือเปิดเผยในทุกที่
3) ผู้ประเมินให้ความเป็นธรรมในการประเมินบทความ ในการวิจารณ์ขอให้ปราศจากอคติ และความชอบหรือไม่ชอบส่วนตัว
4) ผู้ประเมินประเมินโดยใช้ภาษาให้ชัดเจน แสดงความเห็นอย่างชัดเจนและละเอียดเพียงพอ ให้เหตุผลอย่างชัดเจนว่าทำไมจึงวิจารณ์เช่นนั้น และอาจแนะนำช่องทางการปรับแก้แก่ผู้นิพนธ์ด้วย โดยให้เป็นการวิจารณ์และการถามอย่างสร้างสรรค์ แม้ว่าอาจให้ความเห็นสุดท้ายว่าบทความไม่เหมาะสมสำหรับการตีพิม์และถูกปฏิเสธการตีพิมพ์ ผู้นิพนธ์สามารถนำไปปรับปรุงได้เช่นกัน
5) ผู้ประเมินสามารถแจ้งบรรณาธิการเมื่อสงสัยว่ามีการลอกเลียนผลงานไม่ว่ารูปแบบใด ๆ ในบทความที่ประเมิน และ/หรือการตีพิมพ์ซ้ำ พร้อมหลักฐาน (ถ้ามี)
จริยธรรมของผู้นิพนธ์ (Author)
- ต้นฉบับบทความที่ขอรับการพิจารณาต้องเป็นผลงานใหม่ที่ไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่ที่ใดมาก่อน (non-redundant publication) โดยผู้นิพนธ์ต้องยืนยันในแบบฟอร์มที่วารสารฯ กำหนดให้ (แต่ดูข้อยกเว้นในข้อ 2)
- หากเคยตีพิมบางส่วนของผลการศึกษามาก่อน ต้องระบุให้ชัดเจนว่าเคยตีพิมพ์ในวารสารใด เนื้อหาใดที่ตีพิมพ์แล้ว และต้นฉบับบทความที่ขอรับการพิจารณานั้นมีผลการศึกษาเพิ่มจากการตีพิมพ์ก่อนหน้าอย่างไร โดยวารสารฯ จะตัดสินว่าส่วนที่เพิ่มมานั้นมากพอหรือไม่
- หากพบว่ามีการส่งต้นฉบับบทความไปรับการพิจารณานอกเหนือจากที่วารสารนี้ (simultaneous submission) ต้นฉบับจะถูกถอน (retraction)
- เมื่อบทความได้รับการตีพิมพ์กับวารสารฯแล้ว ผู้นิพนธ์ต้องไม่นำไปเผยแพร่หรือตีพิมพ์ในวารสารหรือแหล่งอื่นอีก หากฝ่าฝืนบทความนั้นจะถูกถอน (retraction)
- หากพบว่ามีการลอกเลียนผลงาน (plagiarism) รวมถึงการลอกเลียนผลงานตนเอง (self-plagiarism) ทั้งในต้นฉบับบทความและบทความที่ตีพิมพ์แล้ว บทความนั้นจะถูกถอน ดังนั้นผู้นิพนธ์ต้องอ้างอิงอย่างเหมาะสม
- หากเกิดการฟ้องร้องเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ของเนื้อหาที่ปรากฎในวารสารฯ ให้ผู้นิพนธ์รวมถึงผู้นิพนธ์ร่วมเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว และบทความนั้นอาจถูกถอน
- ผู้นิพนธ์และผู้นิพนธ์ร่วมทุกรายต้องระบุหน้าที่และสัดส่วนที่ตนมีส่วนร่วมในบทความนั้น ในแบบฟอร์มที่วารสารฯ กำหนด
- หากมีผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of interest) ให้ระบุให้ชัดเจนในต้นฉบับบทความ หากพบว่ามีความบกพร่องรุนแรง บทความนั้นอาจถูกถอน
- ควรเตรียมต้นฉบับบทความให้เป็นไปตามรูปแบบที่วารสารฯ กำหนด โดยเฉพาะรูปแบบเอกสารอ้างอิงท้ายบทความ เพื่อลดภาระของกองบรรณาธิการ
- ผู้นิพนธ์และผู้นิพนธ์ร่วมของบทความที่ถูกถอน จะไม่สามารถส่งต้นฉบับบทความเรื่องใหม่เพื่อรับการพิจารณาภายในเวลา 2 ปี
- วารสารฯ จะแจ้งให้สาธารณะทราบเกี่ยวกับบทความที่ถูกถอน (retraction) บนเว็บไซต์ของวารสารฯ
ไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ
วารสารไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ (Thai Pharmaceutical and Health Science Journal) เป็นวารสารวิชาการของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วารสารนี้จัดอยู่ในกลุ่ม 1 (tier 1) ในฐานข้อมูลของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Journal Citation Index Centre; TCI) และ ASEAN Citation Index (ACI)
Impact Factor: 0.022 for 2018 (by TCI, since August 6, 2019)
รูปแบบ: วารสารตีพิมพ์บทความทั้งรูปแบบเล่ม (print) และออนไลน์ (online)
รูปแบบการประเมินต้นฉบับบทความ: double-blind peer review
ISSN: 1905-3460 (print) เริ่มตีพิมพ์เล่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2549 (2006)
ISSN: 2672-9687 (online) เริ่มตีพิมพ์ออนไลน์ตั้งแต่ 1 มกราคม 2551 (2008)
ความถี่: ปีละ 4 ฉบับ (ทุก 3 เดือน) โดยตีพิมพ์บทความวิจัยฉบับละ 10 - 12 บทความ
วัตถุประสงค์ (Aim)
ไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาตีพิมพ์บทความวิชาการทั้ง1) บทความผลการศึกษาวิจัยที่แสดงข้อค้นพบใหม่หรือแง่มุมใหม่ทางวิชาการ และ 2) บทความประมวลความรู้ที่ก้าวหน้า ที่ครอบคลุมศาสตร์ทั้งเภสัชศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ของทั้งคณาจารย์ นิสิต/นักศึกษา นักวิจัย เภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และนักวิทยาศาสตร์
ขอบเขต (Scope)
ขอบเขตเนื้อหา - นำเสนอบทความวิจัยและบทความประมวลความรู้ ที่ครอบคลุมศาสตร์สาขาเภสัชศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ และสหสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพ ดังต่อไปนี้
- เภสัชศาสตร์ (pharmacy, pharmaceutical sciences) ได้แก่ เภสัชกรรมปฏิบัติ (pharmacy practice) การบริบาลทางเภสัชกรรม (pharmaceutical care) เทคโนโลยีเภสัชกรรม (pharmaceutical technology) เภสัชเคมี (pharmaceutical/medicinal chemistry) เภสัชวิทยา (pharmacology) เภสัชจลนศาสตร์ (pharmacokinetics) เภสัชพฤกษศาสตร์ (pharmaceutical botany) เภสัชเวทและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (pharmacognosy and natural products) เภสัชกรรมสังคมและการบริหาร (social and administrative pharmacy) เภสัชเศรษฐศาสตร์ (pharmacoeconomics) โภชนคลินิก (clinical nutrition) อาหารและโภชนาการ (food and nutrition) เครื่องสำอาง (cosmetics) เทคโนโลยีชีวภาพ (biotechnology)
- วิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ (medical and health science) ได้แก่ เวชกรรม/แพทยศาสตร์ (medicine) ทันตกรรม (dentistry) การพยาบาล (nursing) การสาธารณสุข (public health) การแพทย์เสริมและการแพทย์ทางเลือก (complementary and alternative medicine) สหเวชศาสตร์ (allied health science) กายภาพบำบัด (physical therapy) การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ (diagnostic laboratory science) รวมถึง สรีรวิทยาทางการแพทย์ (medical physiology) กายวิภาคศาสตร์ (anatomy) จุลชีววิทยาทางการแพทย์ (medical microbiology)
- สหสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพ (multidisciplinary healthcare science)
ขอบเขตรูปแบบ – บทความวิชาการที่เผยแพร่ครอบคลุมรูปแบบดังต่อไปนี้
- บทความวิจัย (original research article)
- บทความนิพนธ์ปริทรรศน์ (review article)
- บทความวิชาการในรูปแบบรายงานผู้ป่วยหนึ่งราย (case report) และรายงานผู้ป่วยมากกว่าหนึ่งราย (case-series report)
- บทความวิจัยสื่อสารอย่างสั้น (short communication)
- บทความวิชาการในรูปแบบปกิณกะ (miscellaneous)
ผลงานวิชาการที่ส่งมารับการพิจารณาตีพิมพ์ต้องไม่ได้รับการเผยแพร่ที่ใดมาก่อน และผู้นิพนธ์จะต้องไม่ส่งบทความเพื่อไปตีพิมพ์ในวารสารฉบับอื่นในเวลาเดียวกัน หากผลงานวิชาการมีเนื้อหา หรือข้อมูลวิจัยบางส่วนที่เคยตีพิมพ์ในรายงานการประชุมวิชาการ (Proceedings) จะต้องมีส่วนที่เพิ่มเติมหรือขยายจากส่วนที่เคยตีพิมพ์ และต้องมีคุณค่าทางวิชาการที่เด่นชัด
กำหนดการตีพิมพ์ ไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ จัดพิมพ์เผยแพร่ปีละ 4 ฉบับ หรือทุก 3 เดือน (quarterly publications) ดังนี้
ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม-มีนาคม
ฉบับที่ 2 เดือนเมษายน-มิถุนายน
ฉบับที่ 3 เดือนกรกฎาคม-กันยายน
ฉบับที่ 4 เดือนตุลาคม-ธันวาคม