ผลของการให้ความรู้เกี่ยวกับโรค ยาที่ใช้และการปฏิบัติตัว ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
Abstract
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบคะแนนความรู้ของผู้ป่วยก่อนและหลังการได้รับความรู้ในเรื่องโรค ยาที่ใช้และการปฏิบัติตัวในโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และอีก 1 เดือนหลังจากนั้น วิธีการศึกษา: ตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันจำนวน 143 คน (ช่วงอายุ 36 - 96 ปี) ซึ่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสงขลา แผนกผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก ในการศึกษามีการให้ความรู้ในเรื่องพยาธิสภาพของโรค สาเหตุ อาการ การใช้ยาและการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วยเป็นรายบุคคล โดยใช้เอกสารแผ่นพับและรูปภาพประกอบการอธิบายเป็นเวลา 15 นาที ประเมินความรู้ของผู้ป่วยก่อนและหลังการให้ความรู้และอีก 1 เดือนหลังจากนั้น ผลการศึกษา:พบว่าก่อนการให้ความรู้ ผู้ป่วย (จำนวน 143 คน) มีคะแนนความรู้รวมทางด้านพยาธิสภาพของโรค สาเหตุ อาการ การใช้ยาและการปฏิบัติตัวเฉลี่ย 24.75 ± 4.57 (คะแนนเต็ม 37 คะแนน) ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความรู้ดีในเรื่องการปฏิบัติตัว (คะแนนเฉลี่ย 10.60 ± 1.62 จากคะแนนเต็ม 12 คะแนน) แต่มีความรู้ในเรื่องอาการของโรคและการใช้ยาในระดับปานกลาง (คะแนนความรู้ทางด้านอาการของโรค 2.64 ± 1.12จากคะแนนเต็ม 5 และด้านการใช้ยาเป็น 4.09 ± 1.69 จากคะแนนเต็ม 8) หลังจากการให้ความรู้ทันทีพบว่าผู้ป่วยมีคะแนนเฉลี่ย 32.32 ±3.35 เพิ่มขึ้นจากก่อนการให้ความรู้ร้อยละ 30 (P < 0.05) โดยมีคะแนนเพิ่มขึ้นในทุกหมวดความรู้ (P < 0.001) ซึ่งผู้ป่วยมีคะแนนความรู้ด้านการใช้ยามากกว่าด้านอื่น ๆ และอีก 1 เดือนหลังจากนั้นพบว่าผู้ป่วยมีคะแนนความรู้เฉลี่ย 26.50 ± 4.65 (จำนวนผู้ป่วย 117 คน) ซึ่งลดลงจากหลังการได้รับความรู้ทันทีร้อยละ 18 (P < 0.001) โดยหมวดที่มีความรู้ลดลงมากที่สุด คือหมวดการใช้ยา อย่างไรก็ตาม คะแนนเฉลี่ยนี้สูงกว่าก่อนการได้รับความรู้ร้อยละ 7 (P = 0.035) สรุป: การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยด้วยการอธิบาย โดยใช้เอกสารแผ่นพับและรูปภาพประกอบ มีผลให้ผู้ป่วยมีความรู้เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือนความรู้โดยรวมของผู้ป่วยลดลง จึงควรพัฒนาวิธีการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเพื่อให้ความรู้ของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและคงอยู่ได้นานคำสำคัญ: ความรู้, โรค, ยา, ปฏิบัติตัว, โรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันThai Pharm Health Sci J 2009;4(2):193-201§Downloads
Download data is not yet available.
Downloads
Published
2009-03-01
Issue
Section
Original Research Article - นิพนธ์ต้นฉบับ
License
ลิขสิทธิ์ (Copyright)
ต้นฉบับที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนี้ถือเป็นสิทธิ์ของไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ การนำข้อความใด ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของต้นฉบับไปตีพิมพ์ใหม่จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของต้นฉบับและวารสารก่อน
ความรับผิดชอบ (Responsibility)
ผลการวิจัยและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์ ทั้งนี้ไม่รวมความผิดพลาดอันเกิดจากเทคนิคการพิมพ์