การจัดการระดับน้ำตาลในเลือดโดยการตรวจติดตามระดับน้ำตาล ในเลือดด้วยตนเอง ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่สามารถควบคุมด้วยอินซูลิน
Abstract
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลการจัดการระดับน้ำตาลในเลือดโดยการตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่2 ที่ไม่สามารถควบคุมด้วยอินซูลิน วิธีการศึกษา: เลือกผู้ป่วยโรคเบาหวานที่รับการรักษา ณ รพ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ เข้าร่วมการศึกษาจำนวน 72 ราย สุ่มเข้ากลุ่มศึกษาและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 36 ราย กลุ่มศึกษาได้รับการติดตามดูแลการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดโดยเภสัชกรร่วมกับการใช้เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง (ACCU-CHEK ADVANTAGE®) กลุ่มควบคุมได้รับการติดตามดูแลโดยเภสัชกรตามปกติ ทั้ง 2 กลุ่มได้รับการติดตามทางโทรศัพท์สัปดาห์ละ 1 ครั้ง และติดตามผลการรักษาทุก 1 เดือนและประเมินผลการศึกษาเมื่อครบ 3 เดือน ดำเนินการทดลองระหว่างเดือนธันวาคม 2551 ถึงมีนาคม 2552 ผลการศึกษา: ผู้ป่วย 2 กลุ่มไม่แตกต่างกันทั้งลักษณะทางประชากรศาสตร์ ประวัติความเจ็บป่วย ประวัติทางสังคม และประวัติการใช้ยารักษาเบาหวาน หลังจากติดตาม 3เดือน ผู้ป่วยกลุ่มศึกษามีค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลสะสมในเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจาก 9.64 ± 1.97% เป็น 8.08 ± 1.62% (P <0.001) ซึ่งลดลงเฉลี่ย 1.56 ± 2.15% เช่นเดียวกับในกลุ่มควบคุมซึ่งลดลงจาก 9.10 ± 1.59% เป็น 7.52 ± 1.51% (P < 0.001) ซึ่งลดลงเฉลี่ย 1.58 ± 1.62% ในขณะที่ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารของผู้ป่วยกลุ่มศึกษาลดลงจาก 177.14 ± 65.86 มก./ดล. เป็น 148.91 ±68.88 มก./ดล. (P < 0.05) แตกต่างจากผู้ป่วยกลุ่มควบคุมที่ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารเพิ่มขึ้นจาก 146.27 ± 60.75 มก./ดล. เป็น155.11 ± 73.54 มก./ดล. แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.581) สรุป: ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับการตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองมีการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเมื่อผ่านไป 3 เดือนดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่นเดียวกับผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ได้รับการตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง ซึ่งอาจเนื่องจากการติดตามผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มอย่างใกล้ชิดโดยเภสัชกรส่งผลต่อความร่วมมือปฏิบัติตัวของผู้ป่วย และการใช้โทรศัพท์ติดตามอาจมีผลให้ผู้ป่วยมีความกระตือรือร้น และใส่ใจในการดูแลตนเองมากขึ้นคำสำคัญ: การตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง, โรคเบาหวานชนิดที่ 2Thai Pharm Health Sci J 2009;4(2):177-184§Downloads
Download data is not yet available.
Downloads
Published
2009-04-01
Issue
Section
Original Research Article - นิพนธ์ต้นฉบับ
License
ลิขสิทธิ์ (Copyright)
ต้นฉบับที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนี้ถือเป็นสิทธิ์ของไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ การนำข้อความใด ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของต้นฉบับไปตีพิมพ์ใหม่จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของต้นฉบับและวารสารก่อน
ความรับผิดชอบ (Responsibility)
ผลการวิจัยและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์ ทั้งนี้ไม่รวมความผิดพลาดอันเกิดจากเทคนิคการพิมพ์