ผลลัพธ์ทางคลินิกและภาวะแทรกซ้อนทางเมตาบอลิกในทารกคลอดก่อนกำหนดที่ได้รับอาหารทางหลอดเลือดดำ

Authors

  • แรกขวัญ ตันติอำไพวงศ์
  • สุชาดา จาปะเกษตร์
  • จิตราภรณ์ พันธุ์เพชร
  • วรรณคล เชื้อมงคล

Abstract

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลลัพธ์ทางคลินิกและภาวะแทรกซ้อนทางเมตาบอลิก ในทารกคลอดก่อนกำหนดทุกรายที่ได้รับอาหารทางหลอดเลือดดำ (parenteral nutrition; PN) วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาวิจัยเชิงพรรณนาโดยเก็บข้อมูลย้อนหลัง (retrospective descriptive study) ณ หอผู้ป่วยทารกแรกเกิด รพ.เมืองฉะเชิงเทรา ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 ถึง 30 เมษายน 2551 ผลการศึกษา: มีผู้ป่วยที่เก็บข้อมูลได้ 29 คน ส่วนมากเป็นเพศชาย (21 คน หรือ 72.41%) น้ำหนักแรกคลอดเฉลี่ย 1,620.69 ± 376.94 กรัม มารดามีอายุครรภ์เฉลี่ย 32 สัปดาห์ ทารกส่วนใหญ่ได้รับ PN ทางหลอดเลือดดำส่วนปลาย และจำนวนวันเฉลี่ยที่ได้รับ PN คือ 11 วัน ในช่วง weight loss พบว่าทารกทั้งหมดสามารถรับปริมาณน้ำนมได้เพิ่มขึ้นในแต่ละวันโดยเฉลี่ย 1.55 มล./กก./มื้อ ในช่วงหลัง weight loss พบว่าทารก 22 คน (75.86%) มีน้ำหนักต่อวันเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 28.93 กรัม/วัน ค่าความยาวรอบศีรษะและรอบอกซึ่งตรวจวัดได้ในทารก 8 คน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.23 ± 0.66 และ 0.35 ± 0.67 ซม./สัปดาห์ ตามลำดับ และตลอดช่วงที่ได้รับ PN พบว่าทารก 28 คน มีปริมาณปัสสาวะเฉลี่ย 3.19 ± 0.67 มล./ กก./ชั่วโมง มีเพียง 9 คน ที่ได้รับการตรวจวัดค่า serum albumin มากกว่า 1 ครั้ง โดยส่วนใหญ่ (6 คนใน 9 คน) มี serum albumin เพิ่มขึ้น หลังได้รับ PN พบว่าเกิดภาวะแทรกซ้อนทางเมตาบอลิกทั้งสิ้น 122 ครั้ง ในทารก 25 คน (86.21%) โดยเฉลี่ยเกิดขึ้น 3 ครั้งต่อคน และชนิดของภาวะแทรกซ้อนเฉลี่ย 3 ชนิดต่อคน โดยภาวะแทรกซ้อนทางเมตาบอลิกส่วนใหญ่ที่พบคือ hypercalcemia และ hyperchloremia สรุป: การให้ PN แก่ทารกคลอดก่อนกำหนดให้ผลลัพธ์ทางคลินิกที่ดี โดยมีภาวะแทรกซ้อนทางเมตาบอลิกส่วนใหญ่ คือ hypercalcemia และhyperchloremia ซึ่งสามารถลดหรือป้องกันได้โดยการกำหนดให้มีการตรวจวัดค่าเริ่มต้นพื้นฐานทางห้องปฏิบัติการก่อนการให้ PN ในทารกทุกราย และเพิ่มความถี่ในการตรวจวัดค่าทางห้องปฏิบัติการอย่างเหมาะสมคำสำคัญ: อาหารทางหลอดเลือดดำ, ทารกคลอดก่อนกำหนด, ผลลัพธ์ทางคลินิก, ภาวะแทรกซ้อนทางเมตาบอลิก

Downloads

Download data is not yet available.

Downloads

Published

2009-03-01