อาการไม่พึงประสงค์ระหว่างการใช้ยาต้านวัณโรค และความไม่สำเร็จในการรักษา

Authors

  • วิลาวัณย์ ทองเรือง
  • ณัฐนิช กสิณวัฒน์
  • นนทกานต์ ลิ่มเจริญ
  • เกตุวดี หนูรัตน์แก้ว

Abstract

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาชนิดและอุบัติการณ์ของอาการไม่พึงประสงค์ระหว่างใช้ยาต้านวัณโรค การหยุดยาเนื่องจากอาการไม่พึงประสงค์ความสำเร็จในการรักษาวัณโรค (รักษาหายขาดและรักษาครบ) และเปรียบเทียบความไม่สำเร็จในการรักษาวัณโรคระหว่างผู้ป่วยที่เกิดและไม่เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาต้านวัณโรค วิธีการศึกษา: รวบรวมข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วยนอก และ TB treatment card โดยตัวอย่างเป็นผู้ป่วยอายุมากกว่า 15 ปีที่วินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคทุกประเภทในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2548 ถึง 31 ธันวาคม 2548 จากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 2 แห่งในจังหวัดสงขลา จำนวน 500 ราย ผลการศึกษา: อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยที่สุด คือ ความผิดปกติต่อผิวหนัง เช่น คันหรือผื่นคัน (ร้อยละ 15) ตามด้วยตับอักเสบ (ร้อยละ 9) และคลื่นไส้/อาเจียน (ร้อยละ 8) นอกจากนี้ พบผู้ป่วยต้องหยุดยาเนื่องจากอาการไม่พึงประสงค์จำนวน 48 ราย โดยอาการไม่พึงประสงค์ที่ทำให้หยุดยามากที่สุด คือ ความผิดปกติต่อการมองเห็น (ร้อยละ 60) ตามด้วยตับอักเสบ (ร้อยละ 37) พิษต่อหู (ร้อยละ 25) และความผิดปกติต่อผิวหนัง (ร้อยละ 23) พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่รักษาสำเร็จ (ร้อยละ 70) โดยอัตราการรักษาไม่สำเร็จในผู้ป่วยที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ คือ ร้อยละ 30.8 มากกว่าที่พบในผู้ป่วยที่ไม่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ (ร้อยละ 20.2) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P = 0.01) โดยผู้ป่วยที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์มีโอกาสรักษาไม่สำเร็จมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ถึง 1.8 เท่า (crude OR = 1.8; 95% CI: 1.2 - 2.7) สรุป: ผู้ป่วยที่ประสบอาการไม่พึงประสงค์มีอัตรารักษาไม่สำเร็จสูงกว่าผู้ป่วยที่ไม่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ แต่อัตราการรักษาสำเร็จของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มยังต่ำกว่าเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกดังนั้นควรมีการวางแผนดูแลผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับยาสม่ำเสมอและเพิ่มอัตราการรักษาสำเร็จต่อไปคำสำคัญ: วัณโรค, อาการไม่พึงประสงค์, ความสำเร็จในการรักษา

Downloads

Download data is not yet available.

Downloads