ความเห็นต่อผลกระทบของการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาต่อประชาชน รัฐบาล บริษัทยา และเศรษฐกิจของประเทศไทย:กรณีศึกษาบุคลากรทางการแพทย์ในจังหวัดเชียงใหม่
Abstract
วัตถุประสงค์: การศึกษาเชิงคุณภาพนี้เพื่อศึกษาความคิดเห็นของบุคลากรในวงการสาธารณสุขในเรื่องของ ผลกระทบของการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (compulsory licensing; CL) ต่อประชาชน รัฐบาล บริษัทยา และเศรษฐกิจของประเทศไทย วิธีการศึกษา: การเก็บรวบรวมข้อมูลทำโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกแบบมีโครงสร้างคำถาม กลุ่มตัวอย่าง คือ บุคลากรในวงการสาธารณสุขในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 20 คน โดยกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวเป็นผู้ที่มีความรู้ในเรื่องการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา แบ่งเป็นแพทย์ 2 คน เภสัชกร 13 คนและอาสาสมัครสาธารณสุขที่เป็นผู้ติดเชื้อ HIV 5 คน แล้ววิเคราะห์เนื้อหาเชิงพรรณนา ผลการศึกษา: พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความรู้ในเรื่องประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาไม่แตกต่างกัน และเห็นด้วยกับการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาของประเทศไทยเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะในด้านสุขภาพ และทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV โดยการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยด้านบวกคือ ทำให้ประชาชนเข้าถึงยาเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากยามีราคาถูกลง และยังทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณมากขึ้น ขณะที่ผลกระทบในด้านลบนั้นส่งผลโดยตรงต่อบริษัทยาอย่างมาก ทำให้บริษัทยามียอดขายลดลง และทำให้ประเทศไทยถูกตอบโต้ทางการค้าจากประเทศที่เป็นเจ้าของบริษัทยาด้วย สรุป: บุคคลการทางการแพทย์มีความเข้าใจเรื่องการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ว่ามีความจำเป็นต่อการเข้าถึงยา ทั้งนี้ การประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาของประเทศไทยอาจส่งผลกระทบด้านลบต่อประเทศในหลายด้าน ดังนั้นในการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาในครั้งต่อไป จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพคำสำคัญ: การใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร, สิทธิบัตร, ผลกระทบของการประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาDownloads
Download data is not yet available.
Downloads
Published
2009-09-01
Issue
Section
Original Research Article - นิพนธ์ต้นฉบับ
License
ลิขสิทธิ์ (Copyright)
ต้นฉบับที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนี้ถือเป็นสิทธิ์ของไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ การนำข้อความใด ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของต้นฉบับไปตีพิมพ์ใหม่จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของต้นฉบับและวารสารก่อน
ความรับผิดชอบ (Responsibility)
ผลการวิจัยและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์ ทั้งนี้ไม่รวมความผิดพลาดอันเกิดจากเทคนิคการพิมพ์