ผลลัพธ์ของการให้ความรู้เพื่อการจัดการด้วยตนเองแก่ผู้ดูแลและผู้ป่วยเด็กโรคหืดที่ใช้ยาชนิดสูด

Authors

  • พรรณทิพา ฉัตรชาตรี
  • นารัต เกษตรทัต
  • รุ่งนภา ปัญญานิลพันธุ์

Abstract

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลลัพธ์ของการให้ความรู้เพื่อการจัดการด้วยตนเองแก่ผู้ดูแลและผู้ป่วยเด็กโรคหืดที่ใช้ยาชนิดสูด ได้แก่ ผลลัพธ์ทางคลินิก เช่น ผลการควบคุมโรคหืด ค่า peak expiratory flow rate (PEFR) ความรู้เรื่องโรคและยา และความพึงพอใจของผู้ดูแลเด็กต่อการให้บริการของเภสัชกร วิธีการศึกษา: ผู้ป่วยเด็กโรคหืดที่รับการรักษา ณ คลินิกโรคภูมิแพ้และคลินิกโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อายุระหว่าง 6 - 12 ปี ได้รับการจับคู่ (matching) ตามเพศและระดับการควบคุมโรคหืดตามลำดับที่มีแล้วจัดเข้ากลุ่มตามลำดับกลุ่มศึกษาได้รับการให้ความรู้เพื่อการจัดการด้วยตนเองร่วมกับผู้ดูแล ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับบริการจากโรงพยาบาลตามปกติ ผลการศึกษา: ผู้ป่วยเด็กร่วมการศึกษาในกลุ่มศึกษาและกลุ่มควบคุมอย่างละ 28 ราย หลังติดตาม 3 เดือน พบว่าผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มมีค่าเฉลี่ยของคะแนนการควบคุมโรคหืด และค่าเฉลี่ยของค่า PEFR สูงขึ้น มีระดับการควบคุมโรคหืดที่ดีขึ้น เหตุการณ์อันเนื่องมาจากการเกิดอาการกำเริบของโรคหืดลดลงแต่ไม่แตกต่างระหว่างกลุ่ม ค่าเฉลี่ยของคะแนนความรู้เรื่องโรคหืดและยาของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มสูงขึ้น (P < 0.001)แต่ไม่แตกต่างระหว่างกลุ่ม ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของคะแนนความรู้เรื่องโรคหืดและยาของผู้ดูแลเด็กกลุ่มศึกษาสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (P < 0.001) และค่าเฉลี่ยของคะแนนความพึงพอใจต่อบริการของเภสัชกรของผู้ดูแลเด็กกลุ่มศึกษาสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (P < 0.001) สรุป: ผลการให้ความรู้เพื่อการจัดการด้วยตนเองแก่ผู้ดูแลและผู้ป่วยเด็กโรคหืดที่ใช้ยาชนิดสูดในด้านผลลัพธ์ทางคลินิกไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม แต่ผู้ดูแลที่ได้รับความรู้เพื่อการจัดการด้วยตนเองเห็นว่าการให้ความรู้เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย ช่วยให้รู้วิธีดูแลผู้ป่วย และเพิ่มความเชื่อมั่นต่อความสามารถของตนเองว่าจะสามารถดูแลผู้ป่วยเมื่อเกิดอาการหอบกำเริบได้คำสำคัญ: การให้ความรู้, การจัดการด้วยตนเอง, ผู้ป่วยเด็กโรคหืด, ผู้ดูแล

Downloads

Download data is not yet available.

Downloads

Published

2009-09-01