ประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ยาเม็ดมะขามแขกในการรักษาภาวะท้องผูกเรื้อรังในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย
Abstract
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิผล อาการไม่พึงประสงค์และขนาดของยาเม็ดมะขามแขกในการรักษาภาวะท้องผูกเรื้อรังในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยแบบทดลองก่อนและหลังในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่ได้รับการรักษาบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือล้างไตทางช่องท้องที่มีภาวะท้องผูกเรื้อรังตามเกณฑ์ของ ROME III criteria 2006 ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โดยผู้ป่วยได้รับยาเม็ดมะขามแขก เริ่มรับประทานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 1 ครั้งก่อนนอน นาน 1 สัปดาห์ กรณีที่ไม่ได้ผลจะปรับขนาดยาเพิ่มขึ้นครั้งละ 2 เม็ดต่อวัน ทุก 1 สัปดาห์ โดยขนาดยาสูงสุดที่ผู้ป่วยได้รับคือ 8 เม็ดต่อวัน เมื่อผู้ป่วยได้รับขนาดยาที่คงผลการรักษา จะคงขนาดยานั้นนาน 4 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ศึกษาเป็นแบบบันทึกการถ่ายอุจจาระประจำวันตามนิยามท้องผูกของ ROME III criteria 2006 ผลการศึกษา: จากผู้ป่วยที่คัดกรอง 51 ราย เหลือผู้ป่วยร่วมการวิจัยจำนวน 48 ราย ประกอบด้วยผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 35 ราย ล้างไตทางช่องท้อง 13 ราย เป็นชาย 22 ราย หญิง 26 ราย อายุเฉลี่ย 59.5 ± 13.8 ปี ระยะเวลาในการบำบัดทดแทนไต 6 เดือน ถึง 16 ปี เมื่อสิ้นสุดการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษา 42 ราย (ร้อยละ 87.5) การรักษาล้มเหลว 6 รายเนื่องจากผู้ป่วย 5 ราย เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ถ่ายเหลว 2 ราย และปวดท้อง 3 ราย) จึงถอนตัวจากงานวิจัย ส่วนอีก 1 ราย มีปัญหาการบริหารยา เมื่อพิจารณาอัตราการตอบสนองต่อการรักษาในแต่ละข้อย่อยของ ROME III criteria 2006 พบว่ายาเม็ดมะขามแขกทำให้ถ่ายอุจจาระมากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์มากที่สุด ส่วนข้อย่อยที่ตอบสนองต่อการรักษาน้อยสุดคือความรู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด จำนวนครั้งของการถ่ายอุจจาระเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < 0.001 ) โดยเพิ่มจาก 1.0 ± 1.0 เป็น 6.1 ± 1.8 ครั้งต่อสัปดาห์ขนาดยาที่ผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาอยู่ที่วันละ 1 - 6 เม็ด เฉลี่ยวันละ 3.2 ± 1.4 เม็ด อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่พบในการศึกษานี้ทั้งหมดจำนวน 15ราย (ร้อยละ 31.2) โดยพบอาการท้องอืด (ร้อยละ 12.5) มวนท้อง (ร้อยละ 4.2) ปวดท้อง (ร้อยละ 6.2) และถ่ายเหลว (ร้อยละ 10.4) ซึ่งอาการท้องอืดและมวนท้องมีความรุนแรงเล็กน้อย อาการถ่ายเหลวหายไปเมื่อปรับลดขนาดยาลง ส่วนในผู้ป่วย 1 รายที่ปวดท้องรุนแรง อาการหายไปเมื่อหยุดยา ระดับตัวแปรทางชีวเคมีในเลือดของผู้ป่วยไม่เปลี่ยนแปลง และไม่พบภาวะระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ผู้ป่วยส่วนมากพึงพอใจโดยรวมต่อการรักษาภาวะท้องผูกเรื้อรังโดยยาเม็ดมะขามแขก สรุป: ยาเม็ดมะขามแขกมีประสิทธิผลและความปลอดภัยในการรักษาภาวะท้องผูกเรื้อรังในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่ได้รับการรักษาบำบัดทดแทนไต อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางส่วนไม่สามารถทนต่ออาการไม่พึงประสงค์ของยาคำสำคัญ: ภาวะท้องผูกเรื้อรัง, ไตวายระยะสุดท้าย, มะขามแขก__Downloads
Download data is not yet available.
Downloads
Published
2010-01-01
Issue
Section
Original Research Article - นิพนธ์ต้นฉบับ
License
ลิขสิทธิ์ (Copyright)
ต้นฉบับที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนี้ถือเป็นสิทธิ์ของไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ การนำข้อความใด ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของต้นฉบับไปตีพิมพ์ใหม่จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของต้นฉบับและวารสารก่อน
ความรับผิดชอบ (Responsibility)
ผลการวิจัยและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์ ทั้งนี้ไม่รวมความผิดพลาดอันเกิดจากเทคนิคการพิมพ์