ลักษณะผู้ป่วยที่มีการกลับเป็นซ้ำกลุ่มอาการ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน
Abstract
บทคัดย่อวัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาลักษณะผู้ป่วยที่มีการกลับเป็นซ้ำกลุ่มอาการโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาวิจัยเชิงพรรณาชนิดตัดขวาง ศึกษาในผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ และมีการกลับเป็นซ้ำกลุ่มอาการโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ที่พักรักษาตัวในหอผู้ป่วยอายุรกรรมโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่ 18 มิถุนายน - 24 กรกฎาคม 2551 โดยเก็บข้อมูลผู้ป่วยจากข้อมูลเวชระเบียน และการสัมภาษณ์ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย ประเมินผลแบบแจกแจงความถี่ และร้อยละ ผลการศึกษา: มีผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 47 ราย เป็นเพศชายร้อยละ 61.7 มีอายุเฉลี่ย64.4 ± 9.3 ปี โรคหลอดเลือดหัวใจที่พบมากที่สุดคือ unstable angina (ร้อยละ 57.4) รองลงมาได้แก่ non ST elevation MI และ ST elevation MI (ร้อยละ 36.2และ 6.4 ตามลำดับ) โรคประจำตัวที่พบมากที่สุด คือโรคความดันโลหิตสูง (ร้อยละ 78.7) รองลงมาได้แก่ โรคไขมันในเลือดสูงและโรคเบาหวาน (ร้อยละ 51.1 และ40.4 ตามลำดับ) นอกจากนี้ยังพบปัจจัยอื่น ได้แก่ การสูบบุหรี่ (ร้อยละ 53.1) การไม่ออกกำลังกาย (ร้อยละ 80.9) และการขาดความร่วมมือในการใช้ยา (ร้อยละ55.3) สำหรับการรักษาพบว่าผู้ป่วยได้รับยา ACEIs/ARBs, anti-platelets, beta-blockers และ statins ร้อยละ 57.5, 44.7, 29.8 และ 46.8 ตามลำดับ โดยมีผู้ป่วยที่ได้รับยาครบทั้งสี่ชนิดร้อยละ 12.8 ผลการศึกษาความถี่ของการกลับเป็นซ้ำโรคหลอดเลือดหัวใจ พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 3 ครั้งต่อเดือนขึ้นไป ความถี่ในการกลับเป็นซ้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อผู้ป่วยอายุมากกว่า 60 ปี มีระดับ total cholesterol มากกว่า 200 mg/dl มีระดับ LDLcholesterol มากกว่า 100 mg/dl ไม่ให้ความร่วมมือในการใช้ยา ไม่ออกกำลังกาย และสูบบุหรี่ สรุป: การกลับเป็นซ้ำกลุ่มอาการโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันเป็นสาเหตุสำคัญของการตายของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจและการพยากรณ์ของโรคที่เลวลง การป้องกันการกลับเป็นซ้ำควรแก้ไขปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ความไม่ร่วมมือในการใช้ยา การไม่ออกกำลังกาย และการสูบบุหรี่ รวมทั้งควบคุมระดับไขมันในเลือดให้ได้ตามเป้าหมายคำสำคัญ: กลับเป็นซ้ำ, กลุ่มอาการหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ 2553;5(2):103-106§Downloads
Download data is not yet available.
Downloads
Published
2010-04-09
Issue
Section
Original Research Article - นิพนธ์ต้นฉบับ
License
ลิขสิทธิ์ (Copyright)
ต้นฉบับที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนี้ถือเป็นสิทธิ์ของไทยเภสัชศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ การนำข้อความใด ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของต้นฉบับไปตีพิมพ์ใหม่จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของต้นฉบับและวารสารก่อน
ความรับผิดชอบ (Responsibility)
ผลการวิจัยและความคิดเห็นที่ปรากฏในบทความเป็นความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์ ทั้งนี้ไม่รวมความผิดพลาดอันเกิดจากเทคนิคการพิมพ์