บทความปริทัศน์ (Reviewed articles) ถอดบทเรียน : กรณีศึกษา 13 หมูป่าอะเคเดมี่ จังหวัดเชียงราย

Authors

  • สมบูรณ์ บูรศิริรักษ์

Abstract

จากปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ปี 2561 ที่ผ่านมา มีข่าวดังระดับโลกที่ยึดครองหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับและยึดครองจอโทรทัศน์ในชั่วโมงข่าวในประเทศทุกช่อง รวมทั้งยังยึดครองสื่อไปทั่วโลกด้วย ข่าวดังกล่าว คือ ข่าวทีมนักฟุตบอลเยาวชน ทีมหมูป่าอะเคเดมี่แห่งจังหวัดเชียงราย รวม 13 ชีวิต เข้าไปติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน เป็นต้นมา เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ทั่วโลกได้เห็นปฏิบัติการในการกู้อุบัติภัยของประเทศไทยซึ่งมีความสำคัญมากกับเกียรติภูมิของประเทศไทย การที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความสนใจและต้องการมีส่วนร่วมในการกู้ภัย อยากเข้ามาร่วมช่วยเหลือชีวิตคนไทยทั้ง 13 คน แสดงถึงความเป็นสมาชิกของประชาคมโลกที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับคุณค่ากับทุกชีวิตที่เป็นพลเมืองของตนซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้เราต้องพึ่งพาความรู้ความสามารถเทคโนโลยีและประสบการณ์ของนักดำน้ำชาวอังกฤษ รวมทั้งการจัดการประสานงานกับหน่วยซีลของไทยให้ทีมประดาน้ำของต่างชาติที่เชี่ยวชาญที่สุดจากทั่วโลกได้สามารถมาร่วมงานในการช่วยชีวิตทีมหมู่ป่าอะเคเดมี่ จังหวัดเชียงราย ต้องปรบมือให้ผู้บัญชาการร่วมค้นหาผู้สูญหายที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา (มติชน. 2561: 16) ตลอดสัปดาห์ของการค้นหาคนไทยทุกคนทุกฝ่ายรวมพลังจิตใจเพื่อเอาใจช่วยทีมกู้ภัย ทีมสนับสนุน ให้ประสบผลสำเร็จในการกู้ชีพผู้โชคร้ายทั้ง 13 คน ไม่ได้มีการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ไม่มีชนชั้น ทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง มุ่งมั่นปฏิบัติอยู่ในหน้าที่ของตนเองเพราะมีเป้าหมายที่ชัดเจนเหมือนกัน ที่น่าทึ่งเรื่องหนึ่งคือ มีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนเป็นระบบ เริ่มจากการค้นหาให้พบเสียก่อนว่าทีมหมูป่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ถ้ายังอยู่จะมีสภาพร่างกายและจิตใจเป็นอย่างไร ขั้นที่สอง คือ การพาตัวออกจากถ้ำให้ครบทั้ง 13 ชีวิต ขั้นที่สาม คือ การตรวจสอบสภาพร่างกายเพื่อพยายามรักษาเยียวยาและฟื้นฟู และแผนขั้นสุดท้ายเป็นหน้าที่ของจิตแพทย์ที่ต้องเฝ้าดูว่าจะมีความผิดปกติทางจิตหรือไม่เพราะความเครียดต่างๆ จากเหตุการณ์นี้ขบวนการพาตัวออกมาตรวจเช็คสุขภาพ รวมทั้งการป้องกันเยียวยาและพัฒนาเหล่านี้ย่อมเป็นที่เฝ้ามองของประชาชนทั่วโลกมิใช่แต่ประเทศไทยเท่านั้น ภายหลังความสำเร็จของการกู้ภัยเพื่อช่วยชีวิตเยาวชนนักกีฬาฟุตบอลและผู้ช่วยโค้ชทีมหมูป่าอะเคเดมี่           อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จำนวน 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ก่อให้เกิดความตื่นตัวจากหลายภาคส่วนที่จะนำมาเป็น “กรณีศึกษา”และ “ถอดบทเรียน”เพื่อแสวงหาแนวทางแห่งการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติภัยในอนาคต ทั้งนี้ หากพิจารณาจากสภาพการณ์ที่เยาวชนและผู้ช่วยโค้ชต้องเผชิญ ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกและเป็นประวัติศาสตร์ของโลกที่ถือได้ว่าเป็นครั้งที่หินและหฤโหดที่สุดสำหรับปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย อย่างไรก็ตาม จากปรากฏการณ์ที่ถ้ำหลวงจะพบว่าปัญหาที่ทำให้ผู้ปฏิบัติการต้องระดมบุคลากรและนวัตกรรม ตลอดจนเครื่องมืออุปกรณ์ที่หลากหลายจากทั่วสารทิศก็เพราะด้วยสภาวการณ์ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่นำมาซึ่งความยากลำบากและสร้างความกดดันให้กับผู้ปฏิบัติการเป็นอย่างยิ่ง (มติชน. 2561: 21) จากสภาวการณ์และปรากฏการณ์อันนำมาซึ่งการติดถ้ำของ 13 ชีวิต ถือได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกและ      ครั้งสำคัญ ซึ่งจำเป็นอยู่ที่สังคมไทยและสังคมโลกจะได้นำไปเป็นกรณีศึกษาเพื่อถอดบทเรียนสำหรับการแสวงหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขแห่งอนาคต รัฐบาลในฐานะเป็นผู้มีอำนาจและบทบาทหน้าที่ในการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาประเทศคงจะเป็นต้นทางและเจ้าภาพที่จะขับเคลื่อนมิติแห่งการถอดบทเรียนเพื่อศึกษาค้นคว้าในการให้ได้มาซึ่งแนวทางแห่งการป้องกันและแก้ไขโดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ และสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะเป็นเจ้าภาพในการถอดบทเรียนก็คือ “กระทรวงศึกษาธิการ” ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการสร้างและพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศควรใช้โอกาสและความร้อนแรงแห่งกระแสนี้นำไปเป็นพันธกิจเพื่อดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้           ความเข้าใจ และทักษะ ตลอดจนประสบการณ์ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดคิดโดยมีสถานศึกษา ครู-อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาทุกภาคส่วนทุกระดับร่วมเป็นฟันเฟืองเพื่อการสานต่อภารกิจนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่จะนำไปสู่การถอดบทเรียนให้เกิดประโยชน์สูงสุดและบรรลุตามเป้าประสงค์ สามารถนำไปสู่การบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล จำเป็นอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการหรือสถานศึกษาในฐานะเจ้าภาพหรือผู้มีหน้าที่ในการดำเนินการจะต้องเปิดเวทีระดมการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีความรู้และประสบการณ์ตรงจากหลากหลายสาขาอาชีพไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชน ตลอดจนจิตอาสาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ได้ข้อสรุปของข้อมูลที่สามารถใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุง แก้ไข หรือป้องกัน ในเรื่องต่างๆ อาทิ การปรับปรุงหลักสูตรสาระการเรียนรู้ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานถึงระดับอุดมศึกษา ที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและการเปลี่ยนแปลงของโลกได้มากนัก หรือในการจัดการเรียนการสอนของครู-อาจารย์ ควรต้องปลูกฝังเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมกับผู้เรียนให้มากขึ้น หรือการถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่ การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวของรัฐให้มีประสิทธิภาพและรัดกุมมากกว่านี้ ก็เป็นได้

Downloads

Download data is not yet available.

Downloads