การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Main Article Content

จักรกฤษณ์ โปณะทอง

Abstract

บทคัดย่อ การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)  ศึกษาองค์ประกอบการบริหารจัดการความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 2) พัฒนารูปแบบการบริหารจัดการความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ 3)ประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารจัดการความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริหาร  รวมจำนวน 364 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แบบสอบถามองค์ประกอบการบริหารจัดการความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งมีลักษณะแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับตามแบบของลิเคิร์ท มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.92 2) แบบสนทนากลุ่ม และ 3) แบบสอบถามความเหมาะสมของรูปแบบ มีลักษณะแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ตามแบบของลิเคิร์ทมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.95  สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าคะแนนเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์องค์ประกอบโดยใช้โมเดลสมการโครงสร้าง (SEM: Structural Equation Modeling) แบบ PLS-SEM และการเปรียบเทียบค่าคะแนนเฉลี่ยความเหมาะสมของรูปแบบกับเกณฑ์ค่าคะแนนเฉลี่ย (3.51)โดยใช้การทดสอบ One sample t-test ผลการวิจัย พบว่า 1)  การศึกษาองค์ประกอบการบริหารจัดการความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประกอบด้วย 14 องค์ประกอบ ได้แก่ ด้านสังคมด้านเทคโนโลยีด้านเศรษฐกิจด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการเมืองและกฎหมายด้านหลักสูตร ด้านผู้เรียน ด้านคณาจารย์ ด้านทรัพยากรสนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนรู้  ด้านการจัดการเรียนรู้ ด้านการบริหารหลักสูตร  ด้านการให้คำปรึกษา ด้านการติดตามและประเมินผล และด้านคุณภาพของบัณฑิต จากผลการศึกษาคุณภาพขององค์ประกอบอันดับที่ 1, 2 และ 3 พบว่า องค์ประกอบอันดับที่ 1 เป็นโมเดลการวัดแบบสะท้อน ค่าสถิติที่ใช้วัดคุณภาพของ PLS-SEM คือ OuterLoadings, IndicatorsReliability, Alpha, CR, AVE, และความตรงเชิงจำแนก (Discriminant Validity) ปัจจัยภายนอกจำนวน 5 องค์ประกอบ เดิมมีจำนวนตัวบ่งชี้รวมกันเท่ากับ 36 ตัว ผ่านคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดจำนวน 27 ตัว และปัจจัยภายนอกทุกตัวมีความตรงเชิงจำแนก ปัจจัยภายในจำนวน 9 องค์ประกอบ เดิมมีจำนวนตัวบ่งชี้รวมกันเท่ากับ 79 ตัว ผ่านคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดจำนวน 73 ตัว และปัจจัยภายในทุกตัวมีความตรงเชิงจำแนก รวมจำนวนตัวบ่งชี้เมื่อเริ่มต้นเท่ากับ 115 ตัว ผ่านคุณภาพตามเกณฑ์จำนวน 100 ตัว องค์ประกอบอันดับที่ 2 และ 3 เป็นโมเดลการวัดแบบรวมตัว ค่าสถิติที่ใช้วัดคุณภาพของ PLS-SEM จึงแตกต่างจากองค์ประกอบอันดับที่ 1ได้แก่ Redundancy Analysis, Collinearity, Weight และ t-test ของ Weight โดยสถิติทุกตัวมีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด 2) การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จากผลการสนทนากลุ่ม พบว่ารูปแบบการบริหารจัดการความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีตัวบ่งชี้ที่ผ่านเกณฑ์คุณภาพตามขั้นตอนที่ 1 จำนวน 14 องค์ประกอบ 100 ตัวบ่งชี้ ผู้ทรงคุณวุฒิเห็นว่า จำนวนตัวบ่งชี้ทั้งหมดมีมากเกินไป ดังนั้น ในขั้นตอนการสนทนากลุ่มจึงได้คัดเลือกให้เหลือ 70 ตัวบ่งชี้ และนำจำนวนตัวบ่งชี้ที่ผ่านคัดเลือกนี้ไปใช้ในขั้นตอนการประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารจัดการความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 3) การประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการบริหารจัดการความเสี่ยง ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิจารณาจากตัวบ่งชี้ที่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ (ค่าเฉลี่ย 3.51) โดยตัวบ่งชี้มีค่าเฉลี่ยไม่น้อยกว่าระดับมาก (3.51) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผลการศึกษาความเหมาะสมของรูปแบบฯพบว่า ในจำนวนองค์ประกอบทั้งหมด 14 ตัวและมีตัวบ่งชี้ 70 ตัวนั้น จำนวนตัวบ่งชี้ที่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติมี 59 ตัว โดยทั้ง 14 องค์ประกอบมีค่าเฉลี่ยโดยรวมเท่ากับ 3.57 อยู่ในช่วง 3.39 – 3.87 มีองค์ประกอบที่ค่าเฉลี่ยมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จำนวน   4 องค์ประกอบ มีค่าเฉลี่ยมากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติจำนวน 4 องค์ประกอบ และน้อยกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติจำนวน 6 องค์ประกอบ สรุปได้ว่า ไม่มีองค์ประกอบใดที่มีค่าเฉลี่ยน้อยกว่าระดับมาก (3.51) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ดังนั้น รูปแบบการบริหารจัดการความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงมีความเหมาะสมตามเกณฑ์ที่กำหนด คำสำคัญ: การบริหารจัดการความเสี่ยง การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการความเสี่ยง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 

Article Details

How to Cite
โปณะทอง จ. (2017). การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการความเสี่ยงของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. วารสารวิจัยทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 12(1). Retrieved from https://ejournals.swu.ac.th/index.php/jre/article/view/9827
Section
บทความวิจัย (Research Articles)