การพัฒนามาตรประเมินค่านิยมหลัก 12 ประการ สำหรับผู้เรียนอายุระหว่าง 12 – 14 ปี

Main Article Content

อุไร จักษ์ตรีมงคล

Abstract

บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมาตรประเมินค่านิยมหลัก 12 ประการ สำหรับผู้เรียนอายุระหว่าง 12 – 14 ปี โดยตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือที่สร้างขึ้น รวมทั้งสร้างเกณฑ์ปกติเพื่อแปลความหมายคะแนน กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 3 โรงเรียนสังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร ปีการศึกษา 2558 จำนวน 1,094 คน ซึ่งได้มาจากวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นมาตรประเมินค่านิยมหลัก 12 ประการ ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งประกอบด้วย 1. ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2. ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม 3. กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์     4. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม 5. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม 6. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน 7. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตรย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง 8. มีระเบียบ วินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่ 9. มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 10. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 11. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกาย และจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำหรือกิเลส มีความละอายและเกรงกลัวต่อบาป และ 12. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง ผลการศึกษาพบว่า การวิเคราะห์ค่าอำนาจจำแนก ด้วยการวิเคราะห์สถิติเปรียบเทียบที (t-test) พบว่า มีข้อคำถามที่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ได้คะแนนสูงและคะแนนต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จำนวน 157 ข้อ วิเคราะห์ค่าความสอดคล้องภายในโดยใช้วิธีวิเคราะห์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างคะแนนประจำข้อกับคะแนนรวมของแต่ละคุณลักษณะ (item-total correlation) พบว่าข้อคำถามจำนวน 157 ข้อมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างคะแนนรายข้อกับคะแนนรวมในแต่ละคุณลักษณะอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 จำนวน 153 ข้อ ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ (153 ข้อ) มีค่าเท่ากับ .964 วิเคราะห์ความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้างโดยใช้การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน พบว่า ค่าไค-สแควร์ (2) มีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งสามารถแปลความหมายได้ว่าข้อมูลเชิงประจักษ์ไม่สอดคล้องกับโมเดลโครงสร้าง แต่เมื่อพิจารณาดัชนีความสอดคล้องอื่นๆ พบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ และคะแนนที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างตั้งแต่ 297 – 735 สามารถแปลงเป็นคะแนนทีปกติเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบระหว่างบุคคลได้โดยมีค่าคะแนนทีตั้งแต่ T17 – T83 คำสำคัญ : ค่านิยมหลัก 12 ประการ การสร้างเครื่องมือวัด

Article Details

How to Cite
จักษ์ตรีมงคล อ. (2016). การพัฒนามาตรประเมินค่านิยมหลัก 12 ประการ สำหรับผู้เรียนอายุระหว่าง 12 – 14 ปี. วารสารวิจัยทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 10(2). Retrieved from https://ejournals.swu.ac.th/index.php/jre/article/view/7940
Section
บทความวิจัย (Research Articles)