การพัฒนาตัวบ่งชี้การรู้เท่าทันเรื่องเพศของวัยรุ่น

Authors

  • จิตราภรณ์ บุญถนอม
  • พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์
  • ดนุลดา จามจุรี
  • วัยวุฑฒ์ อยู่ในศีล

Abstract

บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตัวบ่งชี้การรู้เท่าทันเรื่องเพศของวัยรุ่น รวมทั้งตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลการรู้เท่าทันเรื่องเพศของวัยรุ่นตามแนวคิดทฤษฎีกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2556 จากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,412 คน เครื่องมือในการวิจัยเป็นแบบสอบถามการรู้เท่าทันเรื่องเพศของวัยรุ่น วิเคราะห์ข้อมูลเบื้องด้วยโปรแกรม SPSS และวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันอันดับ 2 โดยใช้โปแกรมสำเร็จรูป  ผลการวิจัยพบว่า ตัวบ่งชี้การรู้เท่าทันเรื่องเพศ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบคือ การรู้เท่าทันเรื่องเพศด้านความรู้เรื่องเพศ การรู้เท่าทันเรื่องเพศด้านเจตคติและค่านิยมต่อเรื่องเพศ  การรู้เท่าทันเรื่องเพศด้านการเข้าถึงสารสนเทศเรื่องเพศ  การรู้เท่าทันเรื่องเพศด้านทักษะเชิงบุคคลในการปัญหาเรื่องเพศและการรู้เท่าทันเรื่องเพศด้านการประยุกต์ใช้สารสนเทศเรื่องเพศ ค่าน้ำหนักองค์ประกอบอันดับ 2 ของการรู้เท่าทันเรื่องเพศ พบว่า การรู้เท่าทันเรื่องเพศด้านทักษะเชิงบุคคลในการปัญหาเรื่องเพศ มีค่าน้ำหนักองค์ประกอบมากที่สุด มีค่า .94 รองลงมา คือ การรู้เท่าทันเรื่องเพศด้านเจตคติและค่านิยมต่อเรื่องเพศ มีค่า .92 การรู้เท่าทันเรื่องเพศด้านการประยุกต์ใช้สารสนเทศเรื่องเพศ มีค่า .82 การรู้เท่าทันเรื่องเพศด้านความรู้เรื่องเพศ มีค่า .45 และ การรู้เท่าทันเรื่องเพศด้านการเข้าถึงสารสนเทศเรื่องเพศ  มีค่า -.22 ความตรงเชิงโครงสร้างของโมเดลตัวบ่งชี้การรู้เท่าทันเรื่องเพศของวัยรุ่น พบว่า โมเดลตัวบ่งชี้การรู้เท่าทันเรื่องเพศ มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์โดยพิจารณาจากค่าไค-สแควร์ มีค่า เท่ากับ 159.16 มีความน่าจะเป็นเท่ากับ .061 ที่องศาอิสระเท่ากับ133 (df = 133) นั่นคือ ค่าไค-สแควร์ ไม่แตกต่างจากศูนย์อย่างมีนัยสำคัญ แสดงว่ายอมรับสมมติฐานว่าโมเดลการวิจัยมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยค่าดัชนีวัดระดับความกลมกลืน (GFI) เท่ากับ .99 และค่าดัชนีความกลมกลืนที่ปรับแก้แล้ว (AGFI) เท่ากับ .98 รวมทั้งค่าดัชนีรากของกำลังสองเฉลี่ยของเศษ (RMR) เท่ากับ .026 ซึ่งมีค่าน้อยมากเข้าใกล้ศูนย์แสดงว่าโมเดลมีความกลมกลืนกับข้อมูลเชิงประจักษ์ จากโมเดลตัวบ่งชี้การรู้เท่าทันเรื่องเพศที่ผ่านการศึกษาดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เพศศาสตรศึกษาให้วัยรุ่นไทยได้ คำสำคัญ : ตัวบ่งชี้การรู้เท่าทันเรื่องเพศ วัยรุ่น

How to Cite

บุญถนอม จ., ศิริวรรณบุศย์ พ., จามจุรี ด., & อยู่ในศีล ว. (2015). การพัฒนาตัวบ่งชี้การรู้เท่าทันเรื่องเพศของวัยรุ่น. วารสารวิจัยทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 9(1). Retrieved from https://ejournals.swu.ac.th/index.php/jre/article/view/6568