แนวทางการยกระดับสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ประเภทอาหารของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านริมร่อง ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

Authors

  • สุภาพร พรมมะเริง

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการส่งเสริมการยกระดับหรือเลื่อนระดับสินค้า OTOP และเพื่อศึกษาปัญหา และอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพและยกระดับสินค้า OTOP สำหรับวิธีการดำเนินการวิจัยในครั้งนี้ใช้ลักษณะการวิจัย เชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมที่ให้ความสำคัญกับสมาชิกกลุ่ม โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกกลุ่มได้ร่วมค้นหาปัญหาที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มหรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับการยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ภายในกลุ่ม รวมถึงการมีส่วนร่วมกิจกรรมต่างๆ โดยการวิจัย ในลักษณะนี้มุ่งให้กลุ่มเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันและหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหา จากการศึกษาด้านการพัฒนา แนวทางการยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP พบว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านริมร่อง ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 242 หมู่ 7 ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน 51000 ซึ่งเริ่มก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านริมร่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยผู้ก่อตั้งกลุ่ม คือ คุณปิยะภรณ์ สมพงษ์ ได้รวบรวมสมาชิก กลุ่มแม่บ้านที่ไม่ได้ทำงานมาร่วมสมาชิกกลุ่ม จำนวน 10 คน ทำให้กลุ่มแม่บ้านที่ไม่ได้ทำงานเป็นหลักแหล่งมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน ปัญหาการยกระดับสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ด้านเศรษฐกิจส่งผลต่อการผลิตลำไยล้นตลาด ราคาลำไยสดตกต่ำ ขาดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และยังไม่ได้รับการรับรองจาก อย. GMP HACCP ขาดการพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์ขาดเอกลักษณ์ของสินค้า มีการแข่งขันทางด้านราคามากขึ้น ขาดช่องทางการจัดจำหน่ายในต่างประเทศ ขาดการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นปัญหาต่อการยกระดับสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม เพื่อมุ่งสู่ระดับสากล ในปี พ.ศ. 2555-2556 อยู่ระดับกลุ่มซี นักวิจัยจึงได้ร่วมกับทางกลุ่มในการพัฒนาและแนวทางการยกระดับสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ในปี พ.ศ. 2557-2558 จนยกระดับถึงกลุ่มเอ เพื่อยกระดับสู่สากลโดยยกระดับสินค้า ดังนี้ 1. ด้านคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ซึ่งทางกลุ่มได้ดำเนินการขอหนังสือรับรองมาตรฐานการผลิต เลขที่ 8-4-15-51-10-00833 อยู่ในระดับดีมาก ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ และได้ดำเนินการขอหนังสือรับรององค์การอาหารและยา (อย.) เลขที่ 51-2-01053 2. ด้านศักยภาพการผลิต โดยทางกลุ่มได้จัดหาวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มการผลิตและเพิ่มจำนวนอัตราการผลิต ทั้งร่วมระดมสมาชิกภายในหมู่บ้านที่ว่างงานมารวมกลุ่มเพื่อสนับสนุนส่งเสริมรายได้ให้แก่ชุมชน ส่งผลทำให้มีอัตราการผลิตสูงขึ้น ลูกค้าสามารถสั่งซื้อได้จำนวนมาก 3. ด้านกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต ทางกลุ่มได้เพิ่มและขยายนวัตกรรมเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัยสะดวกในการดำเนินงานให้มากขึ้น 4. ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทางกลุ่มได้มีการพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มสายผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น เช่น จากเดิมใส่ถุงพลาสติกใส มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า 5. ด้านตลาดการจำหน่ายของผลิตภัณฑ์ ทางกลุ่มได้เพิ่มหลายช่องทาง เช่น เฟสบุ๊ค โทรทัศน์ ร้านค้า ห้างที่มีชื่อต่างๆ ขยายการส่งออกไปยังต่างประเทศ และสามารถทำการสั่งซื้อสินค้าได้จากทางเว็บไซต์อีกด้วย   คำสำคัญ: แนวทางการยกระดับ  สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์  ผลิตภัณฑ์อาหาร

Downloads

Published

2019-01-09