การวิเคราะห์เหมืองดัชนีถ้อยคำ จากข้อมูลระบุตำแหน่งเชิงพื้นที่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์

Authors

  • อสมาภรณ์ สิทธิ

Abstract

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์เหมืองดัชนีถ้อยคำจากข้อมูลระบุตำแหน่งเชิงพื้นที่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แอปพลิเคชันฟลิกค์เกอร์ (flickr) ในประเทศไทย ข้อมูลที่ได้จากการระบุตำแหน่ง (geo-tagged) มาจากการที่ผู้ใช้งานแบ่งปันข้อมูล รูปภาพหรือแสดงความคิดเห็นต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กับสถานที่ งานวิจัยนี้นำเทคนิคเหมืองดัชนีข้อความ (tags mining) โดยการนำข้อมูลผ่านกระบวนการสกัดความรู้ มาวิเคราะห์เพื่อค้นหารูปแบบหรือความสัมพันธ์ของข้อมูล การดำเนินการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนหลักคือ 1) ดึงข้อมูลระบุตำแหน่งและสร้างคลังฐานข้อมูล 2) ประมวลผลข้อความ 3) จัดกลุ่มแบบลำดับขั้นและหากฏของความสัมพันธ์ระหว่างข้อความและวิเคราะห์ความหนาแน่นเชิงพื้นที่ ผลการวิจัยที่ได้จากการจัดกลุ่มและการหากฏของความสัมพันธ์ดัชนีข้อความและการวิเคราะห์ความหนาแน่นที่อธิบายถึงลักษณะการกระจายเชิงพื้นที่ของการระบุตำแหน่ง flickr สรุปได้ว่า ดัชนีถ้อยคำ flickr ที่ความคล้ายคลึงกันมากในแต่ละกลุ่มจะมีค่าความเชื่อมั่นสูง ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มของข้อความออกเป็น 3 ประเภทที่สำคัญ ได้แก่ ประเภทสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และกิจกรรมพิเศษอื่นๆ ซึ่งเชื่อมโยงกับลักษณะการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ และแสดงให้เห็นถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อพฤติกรรมและการตอบสนองของผู้ใช้งาน ได้แก่ ความนิยมของสถานที่ท่องเที่ยว ตามลักษณะภูมิประเทศและฤดูกาล ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนและพัฒนาในด้านต่างๆ การเข้าถึงพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐาน การให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต คมนาคมขนส่ง และกิจกรรมต่างๆ ที่มีความสำคัญต่อสถานที่นั้นๆ คำสำคัญ: เหมืองดัชนีข้อความ การระบุตำแหน่ง ภูมิสารสนเทศศาสตร์

Downloads

Published

2019-01-09