การศึกษาความสุขในการทำงานและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสุขในการทำงาน ของพนักงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสุขในการทำงานของพนักงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ และเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสุขในการทำงานของพนักงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ โดยใช้วิธีวิจัยเชิงปริมาณ กลุ่มประชากรในการวิจัยได้แก่ พนักงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการจำแนกออกเป็น 4 ธุรกิจหลักได้แก่ ธุรกิจโรงแรมและที่พัก ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจท่องเที่ยวและการจัดนำเที่ยว และธุรกิจคมนาคมขนส่ง โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวน 384 ตัวอย่าง ผลการศึกษาพบว่าระดับคะแนนเฉลี่ยรวมความสุขในการทำงานของพนักงานทั้ง 4 ธุรกิจอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาจำแนกตามประเภทธุรกิจแล้วจะพบได้ว่าพนักงานในธุรกิจโรงแรมและพนักงานในธุรกิจคมนาคมขนส่งเป็นกลุ่มพนักงานที่มีความสุขในการทำงานน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับพนักงานใน 2 ธุรกิจที่เหลือ ผลการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบการถดถอยแบบขั้นตอนพบว่ามี 5 ตัวแปรองค์ประกอบความสุขในการทำงานซึ่งสามารถร่วมกันอธิบายความสุขในการทำงานของพนักงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการได้ร้อยละ 63.6 (R2 = .636) ประกอบด้วย สุขภาพจิตใจ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชา ความสำเร็จในงาน โอกาสความก้าวหน้า และสุขภาพร่างกาย ตามลำดับอำนาจการทำนาย ดังนั้นหากธุรกิจสามารถใช้กระบวนและเครื่องมือในการคัดเลือกพนักงานเพื่อวัดความสามารถในการควบคุมอารมณ์ และทัศนคติเชิงบวกต่อการดำเนินชีวิต รวมถึงมีการจัดแผนงานพัฒนาบุคลากรและกิจกรรมแรงงานสัมพันธ์อย่างเป็นระบบจะส่งผลให้ได้องค์กรได้พนักงานที่เหมาะสมเข้ามาทำงานและทำงานได้อย่างมีความสุข คำสำคัญ: ความสุขในการทำงาน อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการDownloads
Published
2019-01-09
Issue
Section
บทความวิจัย