แนวทางการสร้างเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ในพื้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ

Authors

  • กัลยาณี กุลชัย

Abstract

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาและประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ภายในพื้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ชุมชนบางน้ำผึ้งหมู่ที่ 3 ตำบลบางน้ำผึ้ง ชุมชนบางกระเจ้า ตำบลบางกระเจ้า  ชุมชนขุนสมุทรจีน ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ 2) เพื่อศึกษาแนวทางการสร้างเส้นทางเชื่อมโยงเครือข่ายแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน ภายในเส้นทางท่องเที่ยวตามระดับศักยภาพและกิจกรรมที่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กันในรูปแบบเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงภายในพื้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา3)เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนที่มีการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยใช้แนวทางการวิจัยปฏิบัติการโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ได้ผลการศึกษาดังนี้ ทั้งสามชุมชนมีเป้าหมายร่วมกันของเครือข่ายการท่องเที่ยวเชื่อมโยง คือ ต้องการให้นักท่องเที่ยวรู้จักแหล่งท่องเที่ยวชุมชนทั้ง 3  ชุมชน ต้องการนำรายได้จากการท่องเที่ยวมาพัฒนาชุมชนของตนเอง การสร้างเครือข่ายเพื่อแนะนำแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนอื่นให้นักท่องเที่ยวได้รู้จัก และมีศักยภาพทั้งด้านแหล่งท่องเที่ยว การให้บริการการท่องเที่ยว บุคลากร การบริหารจัดการ การท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบางน้ำผึ้งที่มีศักยภาพการท่องเที่ยวมากพอในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานของท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้นำชุมชนทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ สำหรับชุมชนขุนสมุทรจีน เป็นชุมชนที่ศักยภาพในด้านพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งดึงดูดให้คนนิยมไปท่องเที่ยวคือ วัดขุนสมุทราวาสที่เป็นวัดแห่งเดียวในประเทศไทยที่อยู่กลางทะเล พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนสมุทรจีน รวมถึงผู้นำท้องถิ่นทั้งผู้นำที่เป็นทางการในอดีตคือ ผู้ใหญ่สมร เข่งสมุทร ที่มีวิสัยทัศน์ที่ต้องการแก้ไขสภาพปัญหาของชุมชนเรื่องสิ่งแวดล้อม และต้องการหารายได้มาสนับสนุนงานด้านสิ่งแวดล้อม จึงริเริ่มในการทำเรื่องการท่องเที่ยว สำหรับชุมชนในคุ้งบางกระเจ้า ในคุ้งบางกระเจ้าประกอบด้วยตำบลต่างๆ อีก 5 ตำบล ซึ่งแต่ละตำบลมีเอกลักษณ์ มีแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต ศาสนา สิ่งประดิษฐ์ เสน่ห์ของบางกระเจ้าคือ กิจกรรมการปั่นจักรยาน ถ้าสามารถทำให้นักท่องเที่ยวรู้และรู้จักถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ สำหรับแนวทางการสร้างเส้นทางเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจากประชุมระดมความคิดเห็น สามารถทำได้โดยการทำโปรแกรมการท่องเที่ยวเชื่อมโยง การสร้างโปรแกรมดำเนินการได้ 2 รูปแบบคือแบบ 2 คืน  3 วัน และ โปรแกรม 1 คืน 2 วัน โดยการบริหารจัดการเป็นเรื่องของแต่ละกลุ่มชุมชนแต่จะมีการประสานงานให้ระหว่างชุมชนในการจองที่พัก หรือการท่องเที่ยว การบริหารจัดการการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงในเขตพื้นที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้เกิดการประสานงาน ต้องมีการตั้งคณะกรรมการในการประสานงานในการท่องเที่ยวเพื่อให้เป็นรูปธรรม  ซึ่งในพื้นที่ทั้งสามพื้นที่เป็นพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลกัน ยกเว้นบางน้ำผึ้งกับบางกระเจ้า ที่อยู่ในเขตพื้นที่เดียวกันการติดต่อประสานงานจะทำได้โดยง่าย จากการประเมินของนักท่องเที่ยวทดลองพบว่าทั้งสองพื้นที่นักท่องเที่ยวทดลองมีความพึงพอใจในระดับมากทั้งสองพื้นที่โดยพึงพอใจของพื้นที่ขุนสมุทรจีนในทรัพยากรท่องเที่ยวมากที่สุดคือ 4.1 ส่วนบางน้ำผึ้งบางกระเจ้าพึงพอใจในด้านอาหารกลางวันมากที่สุดคือ 4.37 โดยมีข้อเสนอแนะว่าควรจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวนี้เพียงแต่ในช่วงฤดูฝนไม่ควรจัดในพื้นที่ขุนสมุทรจีน เพราะการเดินทางและการทำกิจกรรมไม่สะดวก คำสำคัญ เครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชน

Downloads

Published

2019-01-09