การพัฒนารูปแบบการสอนด้วยการชี้นำตนเองเพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (ESPASA Model) สำหรับครูวิชาชีพระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
Main Article Content
Abstract
บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการสอนด้วยการชี้นำตนเองเพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ ตลอดชีวิตสำหรับครูวิชาชีพระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัย ราชภัฏจันทรเกษม 2) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการสอนด้วยการชี้นำตนเองเพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตกลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จำนวน 45 คน และ 24 คน ลงทะเบียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555 และ 2556 ตามลำดับซึ่งได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่มใช้รูปแบบการทดลองกลุ่มเดียวทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการเรียนรู้ ESPASA Model แบบทดสอบอัตนัยประยุกต์แบบประเมิน ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีค่าดัชนีความสอดคล้องของเนื้อหาระหว่าง 0.67-1.00 แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการสอน และแบบสอบถามการเรียนรู้ด้วยการชี้นำตนเองมีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของ ครอนบาค 0.87และ 0.81ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ เนื้อหา ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานการทดสอบ ค่าทีและการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวผลการวิจัยพบว่า 1) รูปแบบการสอนด้วยการชี้นำตนเองเพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับครูวิชาชีพ ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ประกอบด้วย 6 ขั้นคือขั้นที่ 1 การสร้างความสนใจ (E-Engagement) ขั้นที่ 2 การเลือกประเด็น (S-Selection) ขั้นที่ 3 การวางแผน (P-Plan) ขั้นที่ 4 การลงมือปฏิบัติ (A-Action) ขั้นที่ 5 การสรุป (S-Summary) และขั้นที่ 6 การประเมินการเรียนรู้ (A-Assessment) หรือ ESPASA Model และทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ต้องเสริมสร้างให้นักศึกษามี 5 ทักษะได้แก่ ทักษะการแสวงหาความรู้ ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ ทักษะการอ่าน ทักษะการคิดและทักษะการสรุป 2) ประสิทธิผล ของการนำรูปแบบการสอนไปใช้พบว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านความรู้และทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตของนักศึกษาหลังการใช้รูปแบบการสอนด้วยการชี้นำตนเองสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นักศึกษามีความคิดเห็นว่ารูปแบบการสอนด้วยการชี้นำตนเองเหมาะสมมากที่สุด นักศึกษาส่วนใหญ่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้วยการชี้นำตนเองของตนว่ามีสูงขึ้นกว่าก่อนการใช้รูปแบบการสอน ความสามารถของนักศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง ปานกลางและต่ำ ที่ได้รับการสอนด้วยการชี้นำตนเองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยกลุ่มที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงมีความสามารถมากกว่านักศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนปานกลางและต่ำตามลำดับ คำสำคัญ : การพัฒนารูปแบบการสอน การชี้นำตนเอง ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต
Article Details
How to Cite
ธรรมโวหาร ส., วันสุดล ส., & บ้านแสน ส. (2016). การพัฒนารูปแบบการสอนด้วยการชี้นำตนเองเพื่อเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (ESPASA Model) สำหรับครูวิชาชีพระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม. วารสารวิจัยทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 10(2). Retrieved from https://ejournals.swu.ac.th/index.php/jre/article/view/7936
Section
บทความวิจัย (Research Articles)