การศึกษาผลการดำเนินการด้านมุ่งเน้นลูกค้าตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) ประจำปีการศึกษา 2556 ภาควิชาสังคม และสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Main Article Content

เบญจมาส เจริญสุขพลอยผล
รุ่งอรุณ สิงคลีประภา

Abstract

บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบเสียงของผู้เรียนที่มีต่อสถาบันตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) ประกอบกับการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความพึงพอใจต่อสถาบันกับความผูกพันของผู้เรียน รวมไปถึงปัจจัยพยากรณ์ความผูกพันของผู้เรียนที่มีต่อสถาบันกลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและหลักสูตรศิลปศาสตร มหาบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศาสตร์การแพทย์ และสาธารณสุข/สังคมศาสตร์และสุขภาพ สัมมนาความสำเร็จในการทำวิทยานิพนธ์ ประจำภาคต้น ปีการศึกษา 2557 จำนวน 50 คน และกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 35 คน รวมทั้งสิ้น 85 คน  โดยใช้แบบสอบถามแบบตัดขวาง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์องค์ประกอบการทดสอบค่าที การทดสอบค่าเอฟ การวิเคราะห์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่า 1. จากการเปรียบเทียบเสียงของผู้เรียนที่มีต่อสถาบันตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษา เพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) พบว่าพฤติกรรมและวิธีการสอนที่เหมาะสมของอาจารย์ การจัดกิจกรรมวิชาการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง การให้ความช่วยเหลือของอาจารย์เมื่อนักศึกษามีปัญหาเกี่ยวกับ การเรียน รวมทั้งความรวดเร็ว ความสุภาพและเต็มใจในการให้บริการของบุคลากรสายสนับสนุน เป็นประเด็นที่พบว่าผู้เรียนมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจสูงกว่าความคาดหวัง ในขณะที่การจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรเพื่อพัฒนาศักยภาพและความรู้ความสามารถของผู้เรียน การจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยเครือข่ายต่างๆ การสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วม และเสริมสร้างการเรียนรู้  สัญญาณอินเตอร์เน็ต (WiFi) ที่รวดเร็วและทั่วถึง รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์และวิทยานิพนธ์ เป็นประเด็นที่พบว่าผู้เรียนมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจ ต่ำกว่าความคาดหวัง ซึ่งเสียงของผู้เรียนเกี่ยวกับความคาดหวัง ความพึงพอใจ และความไม่     พึงพอใจ ในสถาบันได้สะท้อนถึงจุดแข็งและจุดที่ต้องปรับปรุงเพื่อเพิ่มคุณภาพในการให้บริการทางการศึกษาของสถาบันให้ดียิ่งขึ้น 2. ความผูกพันต่อสถาบันของผู้เรียนที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดในแต่ละด้าน ประกอบด้วย 1) ความผูกพันด้านการคงอยู่และความจงรักภักดี ได้แก่ การที่ผู้เรียนชื่นชมในความสามารถทางวิชาการของคณาจารย์ในหลักสูตร 2) ความผูกพันด้านความเต็มใจในการเจาะจงเลือกและยังคงศึกษา ได้แก่ การที่ผู้เรียนต้องการศึกษาจนสำเร็จการศึกษาโดยไม่ลาออกกลางคัน และ 3) ความผูกพันความเต็มใจสนับสนุนและแนะนำผู้อื่นให้รู้จักสถาบัน ได้แก่ การที่ผู้เรียนมีความมั่นใจในคุณภาพของหลักสูตรและพร้อมที่จะประชาสัมพันธ์ให้ผู้อื่นเข้าศึกษาในหลักสูตรผ่านการสื่อสารทางบวก ซึ่งเสียงของผู้เรียนเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นถึงปัจจัยที่สถาบันจะต้องส่งเสริมเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความผูกพันต่อสถาบันอย่างต่อเนื่อง 3. ในภาพรวมพบว่าความพึงพอใจต่อสถาบันของผู้เรียน มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความผูกพันของผู้เรียนต่อสถาบันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  ใน 7 ด้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความสัมพันธ์ ในระดับปานกลาง มีเพียงด้านการจัดทำวิทยานิพนธ์เท่านั้นที่พบความสัมพันธ์ในระดับต่ำ โดยด้านที่มีค่าความสัมพันธ์ สูงที่สุด คือ หลักสูตรและการประเมินผล รองลงมา คือ บริการและกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ สำหรับด้านการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารพบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับความผูกพันของผู้เรียนต่อสถาบัน 4. ตัวแปรปัจจัยที่ส่งผลต่อความผูกพัน ได้แก่ หลักสูตรและการประเมินผล และบริการ และกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ สามารถพยากรณ์ความผูกพันได้   ร้อยละ 37.70 อย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01 กล่าวได้ว่า เมื่อผู้เรียนมีความพึงพอใจในหลักสูตรและการประเมินผล รวมทั้งบริการและกิจกรรม  ที่ส่งเสริมการเรียนรู้มากจะส่งผลให้ผู้เรียนมีระดับความผูกพันต่อสถาบันสูง คำสำคัญ : การมุ่งเน้นลูกค้า เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx)

Article Details

How to Cite
เจริญสุขพลอยผล เ., & สิงคลีประภา ร. (2016). การศึกษาผลการดำเนินการด้านมุ่งเน้นลูกค้าตามเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) ประจำปีการศึกษา 2556 ภาควิชาสังคม และสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. วารสารวิจัยทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 10(2). Retrieved from https://ejournals.swu.ac.th/index.php/jre/article/view/7924
Section
บทความวิจัย (Research Articles)