การจัดสวัสดิการสําหรับผู้ต้องขังของไทย Welfare for Thai Inmates Authors ปรีชญาณ์ นักฟ้อน Preechaya Nakfon Abstract บทความนี้มุ่งนำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการให้แก่ผู้ต้องขังของไทยในปัจจุบัน โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสาร (Document Analysis) ที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) จากผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งการสอบถามข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการแก่ผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถาน ตลอดจนผู้ต้องขังเพื่อนำมาวิเคราะห์สรุปอุปนัย (Analytic Induction) เพื่อตีความข้อมูล และสร้างข้อสรุปข้อมูลจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมหรือปรากฏการณ์ที่เก็บรวบรวมมา พบว่า การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังของไทยในปัจจุบันยังคงมุ่งเน้นการควบคุมเป็นภารกิจหลัก และยึดหลัก ‘อำนาจนิยม’ เป็นหลักการพื้นฐานในการทำงาน โดยผู้ต้องขังเป็นกลุ่มคนชายขอบของสังคมในระบบบริการของรัฐ เนื่องจากกระทำผิดต่อสังคม โดยเรือนจำคือพื้นที่สำหรับการลงโทษการจัดสวัสดิการสำหรับผู้ต้องขังของไทยโดยรวมในปัจจุบันมีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้ต้องขัง อย่างไรก็ดี พบว่ามีข้อจำกัดในการจัดสวัสดิการสำหรับผู้ต้องขังตามมาตรฐานสากล ทั้งในเรื่องปัญหาในเรื่องจำนวนผู้ต้องขังที่มีจำนวนมาก การจัดสรรทรัพยากรการดำเนินงานไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงในเรือนจำและทัณฑสถาน ทัศนคติเชิงลบต่อผู้ต้องขังและการไม่ให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้ต้องขัง การดำเนินงานด้านการจัดสวัสดิการสวนทางกับการดำเนินงานด้านการควบคุม การกำกับดูแลงานด้านการจัดสวัสดิการของเรือนจำและทัณฑสถานใช้เพียงตัวชี้วัดในการประเมิน แต่ไม่ได้กำหนดบทลงโทษหากไม่มีการดำเนินการ ความต้องการหรือความคิดเห็นจากผู้ต้องขังมีความหลากหลายยากต่อการตอบสนองได้อย่างครบถ้วนเหมาะสม ผู้ต้องขังมีฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมเรือนจำ รวมทั้งกระแสสังคมมีผลต่อการจัดสวัสดิการสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถาน ทั้งนี้ ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จในการจัดสวัสดิการสำหรับผู้ต้องขังของไทย ได้แก่ บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการสำหรับผู้ต้องขัง ทรัพยากรในการดำเนินการ นโยบายที่ชัดเจนและโครงสร้างการดำเนินงานที่เอื้อต่อภารกิจ การเรียนรู้และความพร้อมในการปรับตัว การดำเนินงานเชิงบูรณาการจากภาคส่วนต่างๆ และกลไกของกระบวนการยุติธรรมที่ส่งผลต่อจำนวนผู้ต้องขังคำสำคัญ สวัสดิการผู้ต้องขัง, การจัดสวัสดิการผู้ต้องขัง, ผู้ต้องขัง Downloads PDF Issue Vol. 22 No. 1 (2562): วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีที่ 22 ฉบับที่ 1 (มกราคม - ธันวาคม 2562) Section บทความวิจัย