ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการเข้ารับบริการปรึกษา/ตรวจภาวะมีบุตรยาก Factors Related to Infertility Treatment Authors ณัฐชานันท์ ไตรวัฒนวงษ์ และ รักชนก คชานุบ Natchanan Traiwattanawong and Rukchanok Karcharnubarn Abstract ภาวะมีบุตรยากเป็นปัญหาด้านภาวะเจริญพันธุ์ที่ส่งผลให้สตรีไม่สามารถมีบุตรได้ตามที่ต้องการและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาวะเจริญพันธุ์ของประชากรลดลง และอาจส่งผลให้โครงสร้างประชากรเสียสมดุล กล่าวคือมีประชากรวัยเด็กลดลงและทำให้การเข้าสู่สังคมสูงวัยรุนแรงและรวดเร็วขึ้น การเข้าถึงการรักษาจะช่วยให้คู่สมรสสามารถมีบุตรได้ตามที่ต้องการ และลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงประชากรที่จะตามมาลงได้ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเข้ารับการรักษาการมีบุตรยากและลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจและสังคมที่มีความสัมพันธ์ต่อการเข้ารับการรักษา โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจอนามัยเจริญพันธุ์ ปี 2552 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีจำนวนตัวอย่างสตรีไทยที่มีบุตรยากอายุ 25-44 ปี จำนวน 278 คน ผลการศึกษาพบว่า สตรีไทยอายุ 25-44 ปี ที่มีภาวะการมีบุตรยากแต่ไม่เคยได้รับการปรึกษา/การตรวจจากบุคลากรสาธารณสุขเกี่ยวกับการมีบุตรยากสูงถึงร้อยละ 57.5 และผลการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของปัจจัยทางประชากร เศรษฐกิจและสังคมกับการตัดสินใจเข้ารับการปรึกษา/การตรวจจากบุคลากรสาธารณสุขเกี่ยวกับการมีบุตรยากโดยใช้การถดถอยโลจิสติกทวิภาคแบบพหุพบว่าปัจจัยด้าน อายุแรกสมรส จำนวนปีที่สมรส ภาค ระดับการศึกษา การทำงาน และสถานภาพการครอบครองที่อยู่อาศัย มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยพบว่าสตรีที่ประสบภาวะการมีบุตรยากที่มีอายุแรกสมรส 25-29 ปี สมรสมาแล้ว 7 ปีขึ้นไป อาศัยอยู่ในภาคอื่นๆที่ไม่ใช่กรุงเทพมหานคร จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ทำงาน และมีบ้าน และที่ดินเป็นของตนเอง จะมีโอกาสในการเข้ารับการปรึกษา/การตรวจจากบุคลากรด้านสาธารณสุขมากกว่าสตรีกลุ่มอื่นๆ ดังนั้นสตรีกลุ่มที่ยังไม่ได้เข้าถึงการปรึกษา/การตรวจ เช่น สตรีที่มีอายุแรกสมรส 20-24 ปี สตรีที่สมรสมาแล้ว 2-6 ปี และกลุ่มที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีตลอดจนผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงเป็นกลุ่มที่ควรได้รับการส่งเสริมด้านความรู้เกี่ยวกับภาวะการมีบุตรยากและการรักษาที่ถูกต้อง อีกทั้งควรได้รับการสนับสนุนให้เข้ารับการปรึกษา/รักษาให้มากขึ้น หรือผู้ที่ไม่ได้ทำงาน ที่พร้อมจะมีบุตร ได้เข้ารับการปรึกษา/ตรวจเพื่อให้ผู้ที่มีบุตรยากสามารถมีบุตรได้ตามต้องการและยังเป็นการสนับสนุนนโยบายการเพิ่มภาวะเจริญพันธุ์ในยุคสังคมสูงวัยของประเทศไทยด้วยคำสำคัญ: ภาวะมีบุตรยาก ภาวะเจริญพันธุ์ การรักษาภาวะมีบุตรยาก การเข้ารับบริการภาวะมีบุตรยาก Downloads PDF Issue Vol. 22 No. 1 (2562): วารสารสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปีที่ 22 ฉบับที่ 1 (มกราคม - ธันวาคม 2562) Section บทความวิจัย