ผลของคลอรีเนตเตดพาราฟินต่อสมบัติของยางผสมระหว่างยางคลอโรพรีน (CR) และยางธรรมชาติ (NR) ที่เสริมแรงด้วยซิลิกา
Keywords:
ยางธรรมชาติ, ยางคลอโรพรีน, ยางผสม, ซิลิกา, คลอรีเนตเตดพาราฟินAbstract
งานวิจัยนี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อศึกษาผลของคลอรีเนตเตดพาราฟิน (chlorinated paraffin) ต่อสมบัติของยางผสมระหว่างยางคลอโรพรีน (CR) และยางธรรมชาติ (NR) โดยได้เริ่มต้นการศึกษาด้วยการนำยางคลอโรพรีนไปผสมกับยางธรรมชาติในเครื่องผสมระบบปิดที่สัดส่วนการผสมเท่ากับ 75/25 โดยใช้ซิลิกาเป็นสารตัวเติมเสริมแรงในปริมาณ 30 phr จากนั้นจึงทำการปรับเปลี่ยนชนิดและปริมาณของคลอรีเนตเตดพาราฟิน โดยคลอรีเนตเตดพาราฟินที่นำมาใช้ในการทดลองมี 2 ชนิด ได้แก่ Cereclor S45 และ Cereclor 48 หลังจากการผสมเคมียางจึงนำยางคอมพาวด์ไปทดสอบสมบัติต่าง ๆ ต่อไป จากการศึกษาพบว่าแม้ว่าการเติมคลอรีเนตเตดพาราฟินจะมีส่วนช่วยในการปรับปรุงสมบัติในกระบวนการผลิต เพราะคลอรีเนตเตดพาราฟินจะทำให้ยางคอมพาวด์มีความหนืดต่ำลง ซึ่งจะส่งผลทำให้พลังงานที่ใช้ในการผสมลดลงตามไปด้วย แต่เนื่องจากคลอรีเนตเตดพาราฟินมีฤทธิ์ในการหน่วงปฏิกิริยาคงรูป ดังนั้น ยางคงรูปที่ได้จึงมีสมบัติเชิงกลต่าง ๆ ด้อยลง เมื่อเปรียบเทียบที่ปริมาณการเติมเท่ากัน พบว่า Cereclor S45 มีประสิทธิภาพในการปรับปรุงกระบวนการผลิตสูงกว่า Cereclor 48 ทั้งนี้เนื่องจาก Cereclor S45 มีน้ำหนักโมเลกุลและความหนืดที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ดี ในภาพรวมพบว่า Cereclor 48 ทำให้ยางคงรูปที่ได้มีสมบัติเชิงกลที่ดีกว่า Cereclor S45 เล็กน้อย (ยกเว้นสมบัติความต้านทานต่อการขัดถู) ยิ่งไปกว่านั้น จากการศึกษาสมบัติความทนทานต่อความร้อนพบว่าทั้งชนิดและปริมาณของคลอรีเนตเตดพาราฟินส่งผลต่อค่าความทนทานต่อแรงดึงสัมพัทธ์ของยางผสมน้อยมาก อย่างไรก็ดี การเพิ่มปริมาณคลอรีเนตเตดพาราฟินก็ส่งผลทำให้ค่า 100% โมดูลัสสัมพัทธ์มีแนวโน้มสูงขึ้นDownloads
Download data is not yet available.
Downloads
Published
2009-03-04
How to Cite
หัตถะปะนิตย์ ก., วันทะนะ ฐ., & แซ่อุย พ. (2009). ผลของคลอรีเนตเตดพาราฟินต่อสมบัติของยางผสมระหว่างยางคลอโรพรีน (CR) และยางธรรมชาติ (NR) ที่เสริมแรงด้วยซิลิกา. Science Essence Journal, 24(2). Retrieved from https://ejournals.swu.ac.th/index.php/sej/article/view/429
Issue
Section
Research Article