การเตรียมและศึกษาการปลดปล่อยแบบควบคุมของยาอะม็อกซิซิลลินจากบีดแอลจิเนต - ไคโตซาน

Authors

  • นลินา ประไพรักษ์สิทธิ์
  • พรรัมภา งามศิริ

Keywords:

แผลในกระเพาะอาหาร, อะม็อกซิซิลลิน, ไคโตซาน, Helicobacter pyroli

Abstract

ในปัจจุบันการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร (peptic ulcer) ซึ่งเกิดจากเชื้อ Helicobacter pyroli ได้มีการนำยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซิซิลลินมาใช้ในการรักษา แต่เนื่องจากยาอะม็อกซิซิลลินมีระยะเวลาคงตัวในกระเพาะอาหารสั้นและสามารถถูกทำลายได้ด้วยกรดทำให้มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคดังกล่าวต่ำ ดังนั้นวัตถุประสงค์ในงานวิจัยนี้คือเพื่อหาองค์ประกอบที่เหมาะสมในการเตรียมบีดจากสูตรผสมของแอลจิเนตและไคโตซานสำหรับปลดปล่อยยาอะม็อกซิซิลลิน ภายใต้สภาวะเลียนแบบกระเพาะอาหาร (pH 1.2 อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส) โดยเตรียมบีดแอลจิเนต-ไคโตซาน 3 สูตรผสมคือ บีดแอลจิเนต - 0.25% ไคโตซาน บีดแอลจิเนต - 0.5% ไคโตซาน และบีดแอลจิเนต - 1% ไคโตซาน แล้วนำมาทดสอบคุณสมบัติด้านต่างๆ ผลการทดลองพบว่าบีดทั้ง 3 สูตรผสมมีประสิทธิภาพการกักเก็บยามากกว่า 98% บีดมีการบวมตัวเล็กน้อย การบวมตัวของบีดทั้ง 3 สูตรผสมไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและบีดไม่มีการแตกเมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมง ที่นาทีที่ 10 บีดแอลจิเนต - 0.25% ไคโตซานปลดปล่อยยาได้ 80.51 ± 3.40% บีดแอลจิเนต - 0.5% ไคโตซานปลดปล่อยยาได้ 73.79 ± 2.10% และบีดแอลจิเนต ± 1% ไคโตซานปลดปล่อยยาได้ 89.49 ± 1.71% ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบีดแอลจิเนต - 0.5% ไคโตซานสามารถหน่วงการปลดปล่อยยาได้ดีที่สุด ส่วนประสิทธิภาพในการยึดเกาะเยื่อเมือกพบว่าเปอร์เซ็นต์ที่บีดแอลจิเนต - 0.25% ไคโตซานสามารถยึดเกาะเยื่อเมือกมีค่าเท่ากับ 74.33 ± 5.0%, บีดแอลจิเนต - 0.5% ไคโตซานมีค่าเท่ากับ 80.33 ± 2.2% และบีดแอลจิเนต - 1% ไคโตซานมีค่าเท่ากับ 82.33 ± 1.5% ดังนั้นเมื่อพิจารณาคุณสมบัติในด้านต่างๆ ประกอบกันสรุปได้ว่าบีดแอลจิเนต-ไคโตซาน 0.5% มีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการนำมาใช้เป็นระบบนำส่งยาอะม็อกซิซิลลินเพื่อใช้ในการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร

Downloads

Download data is not yet available.

Downloads

How to Cite

ประไพรักษ์สิทธิ์ น., & งามศิริ พ. (2008). การเตรียมและศึกษาการปลดปล่อยแบบควบคุมของยาอะม็อกซิซิลลินจากบีดแอลจิเนต - ไคโตซาน. Science Essence Journal, 23(2). Retrieved from https://ejournals.swu.ac.th/index.php/sej/article/view/101