จากบรรณาธิการ

Main Article Content

Wawta Techataweewan

Abstract

วิกฤติการณ์น้ำท่วม ปี 2554 นี้นับว่าร้ายแรงที่สุดอย่างไม่เคยมีปรากฎมาก่อนในประเทศไทย และเกินความคาดหมายของประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่น้ำท่วมสูงหลายพื้นที่แม้นกระทั่งดอนเมืองซึ่งเป็นพื้นที่สูงสุดของเมืองหลวงก็ตาม  คนจำนวนไม่น้อยที่ต้องแปรผันจากตอนแรกที่เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นเพราะเขตบ้านน้ำไม่ท่วม  แต่ท้ายสุดก็ต้องกลายเป็นผู้รอรับความช่วยเหลือเพราะน้ำท่วมบ้านตนเองเช่นกัน  ส่วนผู้ที่อาศัยในพื้นที่หรือจังหวัดที่น้ำไม่ท่วมก็โดนผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ด้วย  เช่น การสัญจรไม่สามารถไปมาได้โดยสะดวก  รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นล้วนขาดแคลนและราคาสูงกว่าปกติ  ประเทศเสมือนกำลังอยู่ในสภาวะสงครามโดยมีน้ำเป็นข้าศึก ในฐานะนักสารสนเทศได้เรียนรู้อะไรบ้างสำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้  ประการแรก การเตรียมพร้อมด้านข้อมูลสำหรับรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น  ข่าวเมื่อปีที่แล้วระบุว่า กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งใน 9 เมืองใหญ่ในเอเชียที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมอย่างรุนแรงตามผลการวิเคราะห์ขององค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สหภาพยุโรป (โออีซีดี) และจากข้อมูลในราชกิจจานุเบกษา ฉบับวันที่ 2 กรกฏาคม 2553 มีบันทึกการตอบกระทู้ของรัฐบาลต่อการวางแผนรับมือสถานการณ์น้ำท่วมว่า  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จัดทำแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ พ.ศ. 2551-2555  และแผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ พ.ศ. 2553 - 2562  ขึ้น เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่  กรมทรัพยากรน้ำ  กรมอุตุนิยมวิทยา  กรมชลประทาน  กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร  นำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ   ซึ่งล้วนเป็นด้านการจัดการน้ำท่วม (Flood management)  แต่ยังขาดการจัดการสารสนเทศน้ำท่วม  (Flood information management)  เพื่อรวบรวมและจัดเก็บสารสนเทศด้านน้ำท่วมให้ค้นคืนได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ให้บริการทั้งหน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้วิจัย วางแผนและดำเนินการตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ และให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงข้อมูลได้ตามสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร   ประการที่สอง ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับน้ำท่วมในช่วงที่เกิดเหตุการณ์มีจำนวนมาก มาจากหลายแหล่งทั้งภาครัฐและเอกชนและขาดความเป็นเอกภาพ ทำให้ประชาชนสับสนและเกิดปัญหาความน่าเชื่อถือของข้อมูล  ดังนั้นการฝึกฝนให้คนไทยมีทักษะการรู้สารสนเทศเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะด้านการประเมินสารสนเทศ  ประการสุดท้าย ห้องสมุดขนาดใหญ่หลายแห่งโดยเฉพาะห้องสมุดมหาวิทยาลัยประสบอุทกภัยเช่นเดียวกับบ้านเรือนและหน่วยงานต่าง ๆ  ถึงแม้นมีการป้องกันน้ำและขนย้ายทรัพยากรสารสนเทศและวัสดุครุภัณฑ์ไปเก็บไว้ในที่สูง  หลังน้ำท่วมพบว่าสภาพอาคารห้องสมุดเสียหายทำให้ไม่สามารถให้บริการได้ตามปกติ  อาจต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟูและจัดเรียงทรัพยากรสารสนเทศขึ้นชั้นเหมือนเดิม  แผนรับมือกับภัยพิบัติ (Disaster plan) และความรู้ด้านการสงวนรักษาทรัพยากรสารสนเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับห้องสมุดในสถานการณ์เช่นนี้   นอกจากนี้ควรมีการคำนึงถึงการจัดการโลจิสติกส์สารสนเทศ (Information logistics/supply chain) เพื่อให้สามารถบริการสารสนเทศแก่ผู้ใช้ได้อย่างต่อเนื่องแม้นห้องสมุดเกิดอุบัติภัยใด ๆ ก็ตาม  วิกฤติครั้งนี้ไม่ได้นำมาซึ่งความเสียหายเพียงอย่างเดียว แต่ทำให้เราเกิดการเรียนรู้สิ่งดี ๆ เกี่ยวกับประเทศไทยมากมาย ทำให้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงที่ทรงช่วยเหลือพสกนิกรมาโดยตลอด  ทำให้ทราบว่าประเทศไทยมีนักวิชาการเก่ง ๆ  หลายคน มีนักธุรกิจที่มีจิตสาธารณะ  คนไทยมีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  คนไทยมีเมตตาต่อสุนัข แมวและสัตว์อื่น ๆ ที่ประสบภัย  และที่สำคัญคือ ในช่วงเวลาวิกฤตนั้นทุกคนในครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้ากันอย่างอบอุ่นท่ามกลางกำลังใจจากญาติมิตรและเพื่อนฝูง วารสารบรรณศาสตร์ มศว ฉบับนี้เป็นฉบับที่ 2 ของปี 2554 กำหนดออกเดือนธันวาคม ซึ่งกองบรรณาธิการพยายามฝ่าวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้เพื่อให้วารสารออกตามกำหนด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทุกท่าน ทั้งการติดตามอ่าน แสดงความคิดเห็นและการส่งบทความมาตีพิมพ์

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

How to Cite
Techataweewan, W. (2012). จากบรรณาธิการ. บรรณศาสตร์ มศว, 4(2). Retrieved from https://ejournals.swu.ac.th/index.php/jlis/article/view/2156
Section
Editorial