ภาวะโลหิตจางของเด็กนักเรียนในอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เปรียบเทียบตามภาวะโภชนาการ กลุ่มอายุ และเพศ: Cross sectional study

Authors

  • กิตติพงษ์ คงสมบูรณ์
  • สะการะ หัศภาดล
  • นัฎกานต์ วงศ์จิตรัตน์
  • สมบูรณ์ จันทร์สกุลพร

Keywords:

ภาวะโลหิตจาง, ภาวะโภชนาการ, น้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน, น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน

Abstract

ภาวะโลหิตจางของเด็กวัยเรียนในประเทศที่กำลังพัฒนาพบได้บ่อยในเด็กที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐาน (Underweight) และยังพบได้ในเด็กที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน (Overweight) ซึ่งมักพบร่วมกับการขาดธาตุเหล็ก กลุ่มอายุ 12-16 ปีจะพบได้มากและในบางประเทศพบภาวะโลหิตจางในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย การศึกษาครั้งนี้เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะโลหิตจางกับภาวะโภชนาการ เพศ และกลุ่มอายุของเด็กนักเรียนอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก อายุระหว่าง 6-18 ปี จำนวนทั้งสิ้น 6,634 คน ศึกษาแบบตัดขวางโดยเก็บข้อมูลอายุ เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง และความเข้มข้นของเลือด (Hematocrit) โดยอ้างอิงเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) และวัดภาวะโภชนาการโดยใช้ดัชนีมวลกายหรือ Body mass index (BMI) ตามเกณฑ์ของ WHO เปรียบเทียบภาวะโลหิตจางระหว่างเพศตาม BMI for age และตามกลุ่มอายุโดยใช้ Chi-square test ที่ p value < 0.05 วิเคราะห์ Odds ratio ของภาวะโลหิตจางตาม เพศ อายุ และภาวะโภชนาการโดย Logistic regression ผลการศึกษาพบว่าเพศชายมีภาวะโลหิตจางคิดเป็นร้อยละ 19 เพศหญิงพบร้อยละ 14 กลุ่มอายุ 6–9 ปีพบมากที่สุดร้อยละ 25 และน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานพบร่วมกับภาวะโลหิตจางมากที่สุดร้อยละ 19 สำหรับค่า Odds ratio พบว่าเพศหญิงมีภาวะโลหิตจางน้อยกว่าเพศชาย 0.27 เท่า ภาวะโลหิตจางลดลงตามกลุ่มอายุดังนี้ กลุ่มอายุ 6-9 ปี, 9-12 ปี, 12-15 ปี และ15-18 ปี odd ratio 1, 0.55, 0.32 และ 0.23 ตามลำดับ ในกลุ่มน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานพบภาวะโลหิตจางมากกว่าปกติ 0.27 เท่าและกลุ่มน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานพบภาวะโลหิตจางน้อยกว่าปกติ 0.41 เท่า การแก้ปัญหาน้ำหนักตัวต่ำกว่ามาตรฐานจะทำให้ปัญหาโลหิตจางลดน้อยลงโดยเฉพาะในเด็กชายอายุ 6-9 ปี

Downloads