การรับรู้เสียงวรรณยุกต์ของเด็กไทยในต่างช่วงอายุ
Abstract
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรับรู้เสียงวรรณยุกต์ทั้ง 5 หน่วยเสียงของเด็กไทยที่พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ ในงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยแบ่งกลุ่มตัวอย่างเด็กออกเป็น 3 ช่วงอายุคือ 1) กลุ่มเด็กที่มีอายุ 2;0-3;11 ปี จำนวน 25 คน 2) กลุ่มเด็กที่มีอายุ 4;0-5;11 ปี จำนวน 25 คน และ 3) กลุ่มเด็กที่มีอายุ 6;0-7;11 ปี จำนวน 25 คน การทดสอบการรับรู้เสียงวรรณยุกต์เป็นการทดสอบแบบระบุเสียงแบบ 2 ตัวเลือก ซึ่งตัวเลือกที่ใช้เป็นรูปภาพ ในการทดสอบ กลุ่มตัวอย่างจะได้ยินคำจากหูฟังและระบุว่า คำที่ได้ยินคือคำว่าอะไร ผลการวิจัยพบว่า คะแนนเฉลี่ยรวมในการรับรู้เสียงวรรณยุกต์ของเด็กไทยใน 3 ช่วงอายุมีความแตกต่างกัน โดยกลุ่มเด็กที่มีอายุ 6-7 ปีสามารถรับรู้เสียงวรรณยุกต์ได้ถูกต้องมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 98 รองลงมาคือ กลุ่มเด็กที่มีอายุ 4-5 ปี คิดเป็นร้อยละ 90.8 ส่วนกลุ่มเด็กที่มีอายุ 2-3 ปีรับรู้ได้ถูกต้องน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 69.8 และเมื่อทดสอบด้วยวิธีทางสถิติ F-test พบว่า การรับรู้เสียงวรรณยุกต์ของเด็กที่มีอายุ 2-3 ปี, 4-5 ปี และ 6-7 ปีมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แสดงให้เห็นว่า ความแตกต่างทางอายุมีผลต่อการรับรู้เสียงวรรณยุกต์ของเด็กไทย นอกจากนี้พบว่า เด็กส่วนใหญ่เกิดความสับสนเสียงวรรณยุกต์เอกเป็นจำนวนมาก โดยมีแนวโน้มที่สับสนเสียงวรรณยุกต์เอกเป็นเสียงวรรณยุกต์สามัญ ผลการวิจัยข้างต้นแสดงให้เห็นว่า เด็กไทยที่มีอายุ 2 ปีได้เริ่มมีการพัฒนาความสามารถในการรับรู้เสียงวรรณยุกต์เรียบร้อยแล้วและจะสำเร็จสมบูรณ์หลังอายุ 8 ปี คำสำคัญ การรับรู้, เสียงวรรณยุกต์, เด็กไทยDownloads
Published
2014-06-26
Issue
Section
บทความวิจัย