การรักษาอาการนอนกรน ด้วยเลเซอร์วิธีใหม่
Keywords:
อาการนอนกรน, เลเซอร์, LAUPAbstract
อาการนอนกรนก่อให้เกิดการรบกวนสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆทำให้นอนไม่หลับจนอาจถึงกับเกิดปัญหาครอบครัวขึ้นได้ คนที่นอนกรนเวลาไปพักผ่อนหรือทำธุระนอกบ้านไม่มีใครอยากอยู่ร่วมห้องด้วย หลายรายงานพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างอาการนอนกรนกับโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด การรักษามีหลายวิธี โดยลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ลดความอ้วน, ลดการดื่มแอลกอฮอล์, หลีกเลี่ยงยากล่อมประสาท, ไม่นอนหงาย, ไม่ทำให้ร่างกายเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียจนเกินไป จะทำให้อาการนอนกรนดีขึ้นหรือหายไปอย่างไรก็ตามคนที่นอนกรนจำนวนไม่น้อยไม่สามารถลดน้ำหนักหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ การผ่าตัด Uvulopalatopharyngoplasty (UPPP) เพื่อรักษาอาการนอนกรนนั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องดมยาสลบ ต้องพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาล ภายหลังการผ่าตัดจะมีอาการเจ็บคอมาก และอาจพบปัญหาเสียงขึ้นจมูก หรือสำลักเอาอาหารขึ้นไปในจมูกได้ แต่เมื่อใช้เลเซอร์ช่วยผ่าตัด (Laser-assisted uvulopalatoplasty, LAUP) เพื่อตกแต่งเพดานอ่อนและลิ้นไก่เสียใหม่ สามารถทำให้อาการกรนดีขึ้น วิธีการนี้ง่าย ปลอดภัย ทำได้รวดเร็ว สามารถใช้ยาชาเฉพาะที่ ผู้ป่วยไม่เจ็บคอมาก และให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกได้วิธีการ : ผู้ที่มีอาการจำนวน 30 คน เป็นชาย 20 คน หญิง 10 คน อายุเฉลี่ย 45 ปี มีช่วงอายุ 20-67 ปี ได้รับการผ่าตัดรักษาด้วยวิธี LAUP โดยให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง พ่น และฉีดยาชา บริเวณคอ ใช้เลเซอร์ 10-15 วัตต์ ทำร่องบริเวณ 2 ข้างของลิ้นไก่ หลังจากนั้นใช้ defocus ตกแต่งบริเวณลิ้นไก่ให้เล็กลง โดยไม่ต้องตัดลิ้นไก่ทิ้งแบบวิธี UPPP หลังทำผ่าตัดอนุญาตให้กลับบ้านได้ผล : อาการนอนกรนหายไปหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ภายในหนึ่งสัปดาห์ประมาณร้อยละ 83 ส่วนร้อยละ 17 อาการดีขึ้นมาก แต่ยังมีเสียงอยู่บ้างบางครั้ง ไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เพียงแต่มีอาการเจ็บเวลากลืนคล้ายอาการเจ็บคอธรรมดาอยู่ประมาณ 5 วัน อาการจะดีขึ้นเมื่อได้รับยาแก้ปวด พบว่าไม่มีปัญหาเวลาพูดหรือทำงาน การผ่าตัดใช้เวลาเฉลี่ย 10 นาทีสรุป : การใช้เลเซอร์ผ่าตัดบริเวณลิ้นไก่ เพดานอ่อนและ posterior pillar เพื่อรักษาอาการนอนกรนได้ผลร้อยละ 83 วิธี LAUP ทำได้ง่ายไม่เสียเลือดมาก ไม่เจ็บ ไม่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล จึงเป็นทางเลือกใหม่นอกเหนือจากวิธี UPPP ในการรักษาผู้ป่วยนอนกรนซึ่งกลัวการผ่าตัดDownloads
Published
2008-04-18
Issue
Section
Original Article