ผลของการฝึกสเต็ปแอโรบิกแบบแรงกระแทกต่ำที่มีต่อสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพและเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย

Authors

  • นิธิมา เอี่ยมกั๊ก
  • ถนอมศักดิ์ เสนาคำ
  • ประภาพิมนต์ ปริวัติ

Abstract

การวิจัยในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาผลของการฝึกสเต็ปแอโรบิกแบบแรงกระแทกต่ำที่มีต่อสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพและเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักศึกษาหญิงของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล นครปฐม  อายุ 18-22 ปี จำนวน 50 คน ซึ่งเป็นผู้มีค่าดัชนีมวลกายระหว่าง 18.5-28.4 กิโลกรัมต่อตารางเมตร โดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)  แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น  2 กลุ่มๆ ละ 25 คน คือ กลุ่มที่มีน้ำหนักตัวปกติ (ค่าดัชนีมวลกายระหว่าง 18.5-23.4 กก./ม2)  และกลุ่มที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ (ค่าดัชนีมวลกายระหว่าง 23.5-28.4 กก./ม2)  ทำการฝึกโปรแกรมการฝึกสเต็ปแอโรบิกแบบแรงกระแทกต่ำ ที่ระดับความหนัก 60-70 % ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด เป็นระยะเวลา 8 สัปดาห์  สัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 50 นาที จากนั้นทำการทดสอบสมรรถภาพทางกายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ 6 รายการและวัดเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย  นำผลที่ได้มาวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ด้วยการทดสอบค่าที (T-Test) วิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ(One-Way analysis of variance with Repeated Measures) และทดสอบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีของบอนเฟอโรนี (Bonferroni)   โดยกำหนดความมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  ผลการวิจัยพบว่า หลังการฝึกสัปดาห์ที่ 4 และหลังการฝึกสัปดาห์ที่ 8 ของกลุ่มน้ำหนักตัวปกติ มีค่าเฉลี่ยดัชนีมวลกาย นั่งงอตัว ลุกนั่ง แรงเหยียดขา ดันพื้น และเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  ส่วนเดิน/วิ่ง 1 ไมล์ ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  กลุ่มน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์  พบว่า  หลังการฝึกสัปดาห์ที่ 4 และหลังการฝึกสัปดาห์ที่ 8 มีค่าเฉลี่ยนั่งงอตัว และแรงเหยียดขาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนดัชนีมวลกาย ลุกนั่ง ดันพื้น เดิน/วิ่ง 1 ไมล์ และเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกาย ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  สรุปได้ว่าการฝึกสเต็ปแอโรบิกแบบแรงกระแทกต่ำส่งผลต่อการพัฒนาสมรรถภาพทางกายเพื่อสุขภาพและใช้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ

Downloads

Published

2013-03-22