การเปรียบเทียบพฤติกรรมบริโภคนิยมและเจตคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในจังหวัดมุกดาหาร ที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูและมีความเชื่อมั่นในตนเองแตกต่างกัน

Authors

  • ภควดี อาจวิชัย (Pakawadee Artwichai)
  • สมบัติ ท้ายเรือคำ (Sombat Tayraukham)
  • รังสรรค์ โฉมยา (Rangsan Chomya)

Abstract

          ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมต่างชาติเข้าสู่สังคมไทย สะท้องให้เห็นถึงพฤติกรรมของเด็กไทยในปัจจุบันต้องเผชิญกับกระแสบริโภคนิยมและทุนนิยม ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมีบทบาทหน้าที่ในการบ่มเพาะให้เด็กและเยาวชนได้เติบใหญ่เป็นผู้ใหญ่ที่ดีหรือเป็นคนดี เพราะสถาบันทางสังคมจะมีอิทธิพลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพและพฤติกรรมได้ในทุกๆ ด้าน การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อเปรียบเทียบพฤติกรมบริโภคนิยม เจตคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในจังหวัดมุกดาหารที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูและมีความเชื่อมั่นในตนเองแตกต่างกัน กลุ่มตัวอย่างได้แก่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในจังหวัดมุกดาหาร ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 จำนวน 324 คน โดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multi-Stage Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบวัดพฤติกรรมบริโภคนิยม จำนวน 25 ข้อ แบบวัดเจตคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน จำนวน 25 ข้อ แบบวัดการอบรมเลี้ยงดู จำนวน 30 ข้อ และแบบวัดความเชื่อมั่นในตนเอง จำนวน 15 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวนพหุคูณสองทาง (Two-way MANOVA)          ผลการวิจัยพบว่า          1.  นักเรียนที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตยและมีความเชื่อมั่นในตนเองสูงและต่ำ จะมีพฤติกรรมบริโภคนิยมและเจตคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนอยู่ในระดับต่ำกว่านักเรียนที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบเข้มงวดกวดขันและแบบปล่อยปละละเลย          2.  นักเรียนที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแตกต่างกันมีพฤติกรรมบริโภคนิยมและเจตคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนไม่แตกต่างกัน          3.  นักเรียนที่มีความเชื่อมั่นในตนเองแตกต่างกันมีพฤติกรรมบริโภคนิยมและเจตคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01          4.  ผลการเปรียบเทียบพฤติกรรมบริโภคนิยมและเจตคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จังหวัดมุกดาหารที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูและมีความเชื่อมั่นในตนเองแตกต่างกัน พบว่า ไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างการอบรมเลี้ยงดูและความเชื่อมั่นในตนเอง 

Downloads