อุปลักษณ์ในทำเนียบภาษากฎหมาย ภาษาวิชาการ ภาษาการเมือง และภาษาสื่อ ของไทย

Authors

  • ดร. ปนันดา เลอเลิศยุติธรรม

Abstract

บทคัดย่อ แนวความคิดเรื่องอุปลักษณ์แบ่งออกได้ 2 แนวคิด  ได้แก่  แนวคิดแบบดั้งเดิมและแนวคิดแบบภาษาศาสตร์ปริชาน การศึกษาอุปลักษณ์ตามแนวดั้งเดิมพิจารณาว่าอุปลักษณ์เป็นการนำภาษามาใช้เปรียบเทียบเพื่อให้เกิดภาพพจน์และสื่อความหมายได้ชัดเจนขึ้น  ส่วนการศึกษาอุปลักษณ์ตามแบบภาษาศาสตร์ปริชานพิจารณาว่าอุปลักษณ์เป็นคุณสมบัติของมโนทัศน์  ซึ่งในกรณีนี้อุปลักษณ์อาจอำพรางความจริงบางประการไว้   เมื่อพิจารณาการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันจะพบว่าปรากฏการใช้อุปลักษณ์อยู่บ่อยครั้ง  ทั้งอุปลักษณ์ตามแนวคิดแบบดั้งเดิมและแนวคิดแบบภาษาศาสตร์ปริชาน  และในทำเนียบภาษาที่แตกต่างกันจะปรากฏการใช้อุปลักษณ์ที่ต่างกัน  งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่าอุปลักษณ์สะท้อนถึงคุณลักษณะของทำเนียบภาษาอย่างไร   จากการศึกษาข้อมูลในทำเนียบภาษา 4 ทำเนียบภาษา  ได้แก่  ภาษากฎหมาย ภาษาวิชาการ ภาษาการเมือง และภาษาสื่อ  ภาษาสื่อเป็นทำเนียบภาษาที่มีอัตราการปรากฏของอุปลักษณ์มากที่สุด  และปรากฏการใช้อุปลักษณ์ในอัตราสูงทั้งอุปลักษณ์ตามแนวคิดแบบดั้งเดิมและอุปลักษณ์ที่สะท้อนมโนทัศน์ เพื่อให้ผู้รับสารเข้าใจได้ชัดเจนและในขณะเดียวกันได้แอบแฝงแนวคิดหรือข้อมูลบางประการไว้ด้วย  ในภาษาการเมืองพบอัตราการปรากฏของอุปลักษณ์สูงเป็นลำดับถัดมา เนื่องจากการใช้ภาษาทางการเมืองอาจมีการแอบแฝงวัตถุประสงค์บางประการ เช่น การโน้มน้าวใจ การสร้างภาพลักษณ์ที่ดี การแสดงความสุภาพ  เป็นต้น  ซึ่งการใช้อุปลักษณ์เป็นกลวิธีหนึ่งในการอำพรางความจริงบางประการได้  ส่วนภาษาวิชาการปรากฏการใช้อุปลักษณ์ในอัตราต่ำเนื่องจากต้องการความชัดเจนและเป็นทางการ  นอกจากนี้พบว่าไม่ปรากฏการใช้อุปลักษณ์ในภาษากฎหมาย  เนื่องจากภาษากฎหมายเป็นภาษาที่ต้องสื่อความอย่างชัดเจน ไม่อ้อมค้อมหรืออำพรางความจริง   คำสำคัญ  อุปลักษณ์  ทำเนียบภาษา ภาษาศาสตร์ปริชาน     Abstract   Metaphor theories can be classified into two major concepts, i.e., the traditional theories of metaphor and the theories of metaphor in cognitive linguistics. The traditional theories of metaphor regard metaphor as a figure of speech where one thing is compared to another to convey a clearer meaning. However, the theories of metaphor in cognitive linguistics view metaphor as an essential concept in which some truth is hidden. Both theoretical concepts of metaphor are always found in Thai language usage. This article aims at studying the register characteristics of metaphors. The data are drawn from four registers: legal language, academic language, political language, and media language. Regarding the frequency of the occurrence, the highest degree of metaphor is found in media language. Metaphors found in media language are often used as one of the concealing strategies. Similarly, a high degree of metaphors is detected in political language because it tacitly involves a sense of persuasion, positive image building, and politeness. Metaphors are rarely found in academic language because it requires formality and clarity. Furthermore, metaphors are not found in legal language because explicitness and directness are significant concepts of such language.   Keywords: metaphor, register, cognitive linguistics  

Downloads

Published

2014-12-18