การศึกษาความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการทำพฤติกรรมอาสาของนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Authors

  • กนกพร สุทธิสัณหกุล
  • ดร. นิยะดา จิตต์จรัส
  • ดร. ภิญญาพันธ์ เพียซ้าย

Abstract

การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อค้นหาความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการทำพฤติกรรมอาสา โดย 1) เปรียบเทียบความเชื่อเกี่ยวกับการกระทำพฤติกรรมอาสา ระหว่างนิสิตที่มีพฤติกรรมอาสาแตกต่างกัน และ 2) ทำนายพฤติกรรมอาสาของนิสิต โดยใช้ความเชื่อเกี่ยวกับการกระทำพฤติกรรมอาสา  กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตที่กำลังศึกษาในชั้นปีที่ 1 ถึง 4 ระดับปริญญาตรี ปีการศึกษา 2556 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จำนวน 432 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลปัจจัยชีวสังคม แบบวัดพฤติกรรมอาสา และแบบวัดความเชื่อเกี่ยวกับการทำพฤติกรรมอาสา จำแนกเป็นความเชื่อที่จูงใจให้กระทำพฤติกรรมอาสา 5 ด้าน ได้แก่ หน้าที่การทำประโยชน์ต่อสังคม หน้าที่การทำความเข้าใจ หน้าที่การรวมกลุ่มทางสังคม หน้าที่การวางแผนอนาคต หน้าที่การสร้างความผาสุกส่วนตน และความเชื่อที่ต่อต้านการกระทำพฤติกรรมอาสามี 2 ด้าน ได้แก่ อคติด้านแนวคิดเกี่ยวกับการกระทำพฤติกรรมอาสา และอคติในการใช้พฤติกรรมอาสาเป็นเครื่องมือ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ การทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ยโดยใช้ค่าที การวิเคราะห์ความแปรปรวน การเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่โดยวิธีของเชฟเฟ่ และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ (Enter multiple regression analysis)  ผลการวิจัย มีดังนี้ 1. ผลการเปรียบเทียบความเชื่อเกี่ยวกับการทำพฤติกรรมอาสา ระหว่างนิสิตที่มีพฤติกรรมอาสาแตกต่างกัน พบว่า 1.1 นิสิตที่กระทำพฤติกรรมอาสามากกว่า มีความเชื่อที่จูงใจให้กระทำพฤติกรรมอาสาด้านรวมและด้านย่อยทั้ง 5 ด้าน สูงกว่านิสิตที่กระทำพฤติกรรมอาสาน้อยกว่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 1.2 นิสิตที่กระทำพฤติกรรมอาสาต่างกัน มีความเชื่อที่ต่อต้านการกระทำพฤติกรรมอาสาโดยรวมและรายด้านไม่แตกต่างกัน 2. ความเชื่อเกี่ยวกับการกระทำพฤติกรรมอาสาทั้ง 7 ด้าน ร่วมกันทำนายพฤติกรรมอาสาได้ร้อยละ 8.6 โดยมีความเชื่อเพียง 1 ด้านที่สามารถทำนายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 คือ ความเชื่อด้านหน้าที่การรวมกลุ่มทางสังคม (b = .198)   คำสำคัญ พฤติกรรมอาสา, ความเชื่อ, แรงจูงใจ, นิสิตนักศึกษา

Downloads

Published

2014-06-26